- 05 มิ.ย. 2563
ภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบด้วยประเทศต่างๆ ได้เเก่ บาห์เรน อิหร่าน ตุรกี อีรัก อิสราเอล จอร์เเดน คูเวต เลบานอน โอมาน การตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ เยเมน เเละดินเเดนปาเลสไตน์
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เผยเรื่องราวฝนหลวง ที่ชาวไทยหลายๆคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบด้วยประเทศต่างๆ ได้เเก่ บาห์เรน อิหร่าน ตุรกี อีรัก อิสราเอล จอร์เเดน คูเวต เลบานอน โอมาน การตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ เยเมน เเละดินเเดนปาเลสไตน์ (เวสต์เเบงก์เเละฉนวนกาซา) ภูมิภาคนี้อุดมไปด้วยพลังงานน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ โดยน้ำมันสำรองของโลกอยู่ในตะวันออกกลางเกือบ 50 % คิดเป็นปริมาณ 800 กว่าพันล้านบาร์เรล และ ปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองของโลกอยู่ในภูมิภาคนี้เช่นเดียวกันมากถึง 46% คิดเป็นปริมาณ 80 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ผลิตน้ำมันดิบได้วันละประมาณ 3.16 ล้านบาร์เรล ทำให้ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ยกเว้น จอร์เเดน เลบานอน และซีเรีย เนื่องจากเป็นประเทศที่ไม่มีพลังงานน้ำมัน
ถึงแม้ประเทศในตะวันออกกลางจะอุดมไปด้วยแหล่งพลังงานและมีเศรษฐกิจที่ดี แต่สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่แห้งแล้งเป็นลักษณะทะเลทราย ปริมาณฝนแต่ละปีเฉลี่ยไม่เกิน 500 มิลลิเมตร แหล่งน้ำก็เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็กๆ ที่เรียกว่าโอเอซิส และบางประเทศมีการก่อสร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร และอุปโภค บริโภค เช่น ประเทศจอร์แดน แต่ปริมาณน้ำก็ยังไม่เพียงพอ
ระหว่างปี 2550 - 2551 รัฐสุลต่านโอมาน และราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ได้ขอความร่วมมือผ่านรัฐบาลไทยเพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือในการทำฝนหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เทคโนโลยีฝนหลวง และสิทธิบัตรฝนหลวงแก่ทั้งสองประเทศในปี 2552
ปี 2554 รัฐบาลไทยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านฝนหลวงเดินทางไปจอร์แดนเพื่อสำรวจพื้นที่และพิจารณาความเป็นไปได้ของการทำฝนหลวงในจอร์แดน ซึ่งได้พิจารณาเลือกพื้นที่ Jordan Valley ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำของเขื่อน King Talal และเป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของจอร์แดน เป็นพื้นที่ทดลองทำฝนหลวงเชิงวิจัย
ปี2557 และ 2558 ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างไทยและจอร์แดน ในการยกร่างบันทึกความเข้าใจฯ(MOU) และกำหนดแผนงานโครงการภายใต้ MOUนี้
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ(MOU) ณ กระทรวงคมนาคมจอร์แดน ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของจอร์แดน โดยมีระยะเวลาความร่วมมือจำนวน 3 ปี
ทั้งนี้ก่อนที่จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ได้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยา และกองทัพอากาศของจอร์แดนจำนวน 2 ครั้งในปี 2557 และ2558 พร้อมทั้งฝ่ายไทยได้มีการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับการสาธิตปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 4 รายการ ได้แก่ เครื่องบดสารเคมี 2 เครื่องพร้อมเครื่องยนต์ต้นกำลัง ถุงพลาสติกสำหรับใส่สารฝนหลวง 100 กก. พลั่ว 4 อัน และสายพานร่องบี 4 เส้น โดยมีเงื่อนไข ทางฝ่ายจอร์แดนต้องประยุกต์เครื่องบินของกองทัพอากาศจอร์แดนเพื่อใช้ในการปฏิบัติสาธิต
การดำเนินการภายใต้โครงการความร่วมมือในระยะ 3 ปี ฝ่ายไทยโดยกรมฝนหลวงฯได้จัดฝึกอบรมในประเทศไทยให้กับเจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิยา และกองทัพอากาศจำนวน 3 ครั้ง และส่งผู้เชี่ยวชาญจากกรมฝนหลวงได้แก่ นายวัฒนา สุกาญจนาเศรษฐ์ นายภักดี จันทร์เกษ นายฉันติ เดชโยธิน นายฐิติกร จรรยาธรรม นายแทนไทร์ พลหาญ นายปริญญา อินทรเจริญ ที่สับเปลี่ยนกันไปฝึกอบรมให้กับเจ้าหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยาจอร์แดน ณ ประเทศจอร์แดนในลักษณะ On the Job Training จำนวน 3 ครั้ง โดยมี น.ส.ศุภลักษณ์ ดาโสม เป็นผู้ประสานโครงการ ส่งผลให้ฝ่ายจอร์แดนได้ทำการทดองประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทานในจอร์แดน จำนวน 25 ครั้งและมีการศึกษาวิจัยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พบว่าการทำฝนมีการเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อการเกษตร และน้ำในเขื่อน King Talal
ขอบคุณ
เพจ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร