สาวเผยอุทาหรณ์ เรื่องพ่อ หลังเซ็นหนังสือให้เจ้านาย

สาวเผยอุทาหรณ์ เรื่องพ่อ หลังเซ็นหนังสือให้เจ้านาย

เรียกว่าเป็นเรื่องราวที่เป็นอุทาหรณ์สำหรับเรื่องราวของ สมาชิกเว็บไซต์ pantip โดยระบุข้อความว่า เรามาเล่าเรื่องนี้เพื่อให้เรื่องของครอบครัวเรา เป็นบทเรียนให้กับคนอื่นๆ ที่ทำงานด้วยนิสัยขี้เกรงใจ ทำตามใจผู้บริหาร เขาสั่งให้ทำงานอะไรก็ทำสนองความต้องการอย่างว่าง่าย เชื่อใจผู้บังคับบัญชาว่าเขาจะรับผิดชอบทั้งหมดหากมีอะไรผิดพลาดขึ้นมา เมื่ออ่านเรื่องของเราจบขอให้ทำงานด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะคนที่อยู่ในระบบราชการและงานที่เกี่ยวกับเงิน
 
พ่อซึ่งนิสัยเป็นคนขยัน และใจดีมาก ชอบช่วยเหลือเป็นธุระปะปังให้คนอื่นอยู่เสมอ แม้ว่าหลายต่อหลายครั้ง คนเหล่านั้นจะกลับมาสร้างความเดือดร้อนให้  ทั้งเอาเปรียบ ถูกโกง เคยต้องชดใช้เงินค่าผ่อนรถให้เพื่อน เพราะไปค้ำประกันให้เขาซื้อรถคันเป็นล้าน แล้วเขาเอารถไปขายไม่ชดใช้ เคยไว้ใจให้คนรู้จักเอาที่นาไปทำนาแลกข้าว แต่กลับโดนขุดหน้าดินไปขาย จนนาข้าวตัวเองกลายเป็นบ่อปลา แต่พ่อเราก็ให้อภัยคนอื่นเสมอ ไม่เคยเอาเรื่องเอาราวใคร ด้วยพื้นฐานเกิดมายากจน เรียนจบ ป.4 เข้ากรุงเทพฯ มาทำงานรับจ้าง พร้อมกับส่งตัวเองเรียน จากเคยทำงานรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ก็สมัครเป็นภารโรงในหน่วยงานราชการ พ่อพยายามเรียนสอบเทียบ จนจบ ปวช. ภาคค่ำ เมื่อได้วุฒิมาก็สอบเข้ารับราชการบรรจุตั้งแต่ซี 1 ทำงานในตำแหน่งธุรการ จากนั้นก็เรียนภาคค่ำจนจบปริญญาตรี ได้วุฒิมาเลื่อนตำแหน่งเป็นซี 3 ซึ่งยุคนั้นเป็นช่วงที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานตั้งกรมขึ้นใหม่ แยกออกมาจากกระทรวงอื่น มาอยู่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน พ่อเราจึงเป็นกลุ่มข้าราชการในรุ่นบุกเบิกก่อร่างสร้างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 

ประมาณปี 2540-2541 พ่อถูกให้ไปช่วยราชการในส่วนงานพัสดุ และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานจัดซื้อครุภัณฑ์ ดูแลการใช้รถยนต์ และสาธารณูปโภคต่างๆ ของทั้งกรม งานเยอะมากเพราะเจ้าหน้าที่พัสดุมีน้อย แต่ละวันจะมีแต่คนมาขอคำปรึกษาเรื่องงาน กว่าจะมีเวลาได้เซ็นเอกสารเคลียร์งานของตัวเองที่กองบนโต๊ะ ก็ต้องรอให้คนอื่นๆ กลับบ้านไปก่อน พ่อเข้างาน 08.00 - 19.30 น. ทุกวันถึงจะกลับบ้าน และในช่วงปีนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกนโยบายว่ารัฐบาลจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Hup (ศูนย์กลาง) ในการพัฒนาฝีมือแรงงานของเอเชีย และพัฒนาตลาดแรงงานไทยออกสู่ต่างประเทศ ในตอนนั้นอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ก็สั่งให้เร่งสร้างศูนย์/สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ โดยคนที่ทำงานอยู่ในส่วนกลาง ในยุคนั้นมีอยู่ไม่กี่คน งานพัสดุมีข้าราชการอยู่ 2-3 คน และลูกจ้างอีก 10 คน ต้องเร่งทำเรื่องจัดซื้อ ก่อสร้างทุกอย่างทั่วประเทศ  ถ้าเป็นปัจจุบันหน่วยงานในพื้นที่จะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในพื้นที่ตัวเอง แต่ตอนนั้นทุกเรื่องมากองรวมกันอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งการทำงานของราชการมีระเบียบการใช้เงินงบประมาณ ถ้าใครทำงานราชการจะเข้าใจดี ว่าการจะจ้างใครทำงานเงินหลักล้านต้องประกวดราคา แต่งตั้งกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง ตรวจรับงาน ฯลฯ ใช้เวลาและทำเอกสารมากมายกว่าจะแล้วเสร็จ 1 งาน และในยุคนั้นการจัดซื้อจัดจ้างก็ไม่เหมือนปัจจุบัน เวลาจะสร้างตึกใหม่ จะจ้างแยกเป็นชิ้นๆ เช่น ก่อสร้างอาคาร ตกแต่งอาคาร ซื้อวัสดุครุภัณฑ์สำนักงาน  ติดแอร์ ปลูกต้นไม้ ตกแต่งสถานที่ ไม่จ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จให้ผู้รับเหมาทำทุกอย่างจนจบไปในครั้งเดียว เหมือนตอนนี้ การจ้างแต่ละโครงการต้องแต่งตั้งข้าราชการเป็นคณะกรรมการอย่างน้อย 6 คน แล้วเสนอไปให้อธิบดีกรมอนุมัติ (หรือรองอธิบดีที่ได้รับมอบหมายอนุมัติแทน) คนเหล่านี้ที่ถูกตั้งเป็นกรรมการก็จะถูกตั้งวนๆ ซ้ำๆ อยู่ทุกโครงการ อีกทั้งงบประมาณมีน้อย งบก่อสร้างไม่เพียงพอที่จะสนองต่อนโยบายเร่งด่วนของผู้บริหาร (ผู้บริหารอยากเห็น อยากได้อะไรก็สั่ง) วัฒนธรรมราชการ เมื่อใดก็ตามที่ผู้บริหารระดับสูงสั่ง ก็ต้องตอบสนองให้ได้ในทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 

การสร้างศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ 70 กว่าแห่ง ถ้าจะให้งานเสร็จตามปกติ ต้องรองบแต่ละปีมาทำ คงใช้เวลาสร้างราว 5-10 ปี แต่เจ้านายของพ่อ เป็นผู้หญิงเก่ง ทำงานเร็ว กล้าคิดกล้าทำ ทำงานเข้าตาเจ้านาย สั่งปุ๊บได้ปั๊บ จาก 5 - 10 ปี ก็เสร็จได้ภายใน 1-2 ปี เรียกว่าทำงานไวได้ดังใจ เจ้านายทุกคนจึงใช้งานหนัก ตำแหน่งจึงก้าวหน้ารวดเร็วมาก จาก ผอ.กอง ก็ได้ขยับขึ้นเป็นรองอธิบดี เป็นที่น่าหมั่นไส้และถูกจ้องจับตาจากคู่แข่งที่แย่งชิงเก้าอี้ 

การว่าจ้างให้ก่อสร้างศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานตามจังหวัดต่างๆ ด้วยวิธีการและงบประมาณในตอนนั้น เป็นการจ้างให้สร้างได้เพียงอาคารเปล่า ต้องรองบประมาณปีต่อๆ ไปเพื่อซื้ออุปกรณ์ ตกแต่งสถานที่ ซึ่งแน่นอนว่าแม้ว่าอาคารจะสร้างเสร็จแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปทำงานไม่ได้เพราะมีแต่ห้องเปล่ากับพนังปูน

ข้อสั่งการของรัฐมนตรีที่ให้เร่งสร้างและพัฒนาแรงงานไทย คราวนี้ทั้งปลัดกระทรวง ทั้งอธิบดีย่อมไม่อยู่เฉย จึงออกนโยบายสั่งให้รองอธิบดี (เจ้านายของพ่อซึ่งรับผิดชอบดูแลเรื่องนี้) เร่งรัดดำเนินการ ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างที่รับงานแต่ละแห่งอยู่ในตอนนั้น ก่อสร้างทุกอย่างให้เสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานไปก่อน ให้อาคารเปิดใช้งานได้ คนเข้าไปทำงานได้ โดยที่ยังไม่ได้ทำสัญญาจ้าง เพราะงบประมาณในตอนนั้นไม่มี  ผู้รับเหมาแต่ละรายเห็นว่าหน่วยงานรัฐจ้างยังไงก็ได้เงินแน่ๆ ก็ยอมทำงานให้ก่อน รอกรมมีงบที่เหลือจากการใช้จ่ายแต่ละปีออกมา จึงค่อยมาจ่ายใช้หนี้คืนย้อนหลัง (การทำงานราชการระหว่างดำเนินการ ผู้บริหารมักสั่งเพิ่มนั่นเพิ่มนี้ แต่ไม่มีงบประมาณเพิ่มให้ด้วย หลายหน่วยงานมักทำไปก่อนตามใจนาย แล้วค่อยหาเงินจ่ายย้อนหลัง) แต่วิธีการแบบนี้ เป็นการทำงาน "ไม่ถูกขั้นตอนในการใช้จ่ายเงินราชการ" เพราะการใช้เงินทุกอย่างต้องมีลายลักษณ์อักษร ต้องได้รับการอนุมัติจากอธิบดีก่อน ต้องมีแผน มีการตั้งเงินงบประมาณรอไว้ก่อน มีขั้นตอนการประกวดราคา ถึงจะเป็นไปตามระเบียบที่กำหนด (ในยุคก่อนๆ กฎระเบียบหละหลวม ราชการมักคิดว่าระเบียบมี แต่ยืดหยุ่นได้ ทำตามเจตนาของเจ้านายเป็นหลัก แต่ในยุคนี้ ปปช. มีการเน้นย้ำ อบรมข้าราชการอย่างเข้มงวด ไม่มีใครกล้าตัดสินใจทำอะไร เพราะกลัว พรบ.ทุจริต  แต่ราชการในยุคก่อนไม่มี ปปช. ไม่มีการอบรมให้ความรู้ ไม่มีการรณรงค์ตอกย้ำให้คนเกรงกลัว พอมีงานเร่งด่วน ก็จะใช้วิธีการซิกแซ็กกันไปต่างๆ นาๆ เพื่อให้งานรวดเร็ว  มีความเกรงกลัวคำสั่งผู้บริหารระดับสูง มากกว่าเกรงกลัวระเบียบ การทำงานลัดขั้นตอนจึงเป็นเรื่องปกติ เป็นวัฒนธรรม คิดว่าไม่ได้มีเจตนาทุจริตคงไม่เป็นไร แต่หลังจาก พรบ.ทุจริตที่ออกมาหลังจากนี้ ศาลไม่ดูเจตนาการทำงานเลย ไม่ฟังเหตุผลใดๆ ผิดก็คือผิด)
 

พ่อเราเป็นเจ้าหน้าที่ 1 คนในงานพัสดุ ถึงแม้ว่างานก่อสร้าง ปรับปรุงศูนย์ต่างๆ จะเป็นงานของหัวหน้าส่วน แต่คนที่ทำงานในพัสดุด้วยกัน ก็จะต้องถูกใส่ชื่อให้เป็นกรรมการทุกโครงการ วนไปทุกงาน ทั้งกรรมการตรวจรับ หรือกรรมการประกวดราคา บางทีหัวหน้าไปราชการข้างนอก หรือไม่มาทำงาน พ่อก็ต้องรักษาการแทนและเซ็นหนังสือออกจากงานพัสดุแทน เพื่อให้งานออกจากส่วนไปเร็วๆ โดยไม่คิดระวังว่า อาจทำให้ตัวเองเดือนร้อน คนที่ถูกแต่งตั้งเป็นกรรมการไม่ได้มีเพียงแค่พ่อเราเท่านั้น คนอื่นๆ ที่อยู่ในส่วนงานหรือกองอื่นๆ เช่น วิศวกร นักวิชาการอื่นๆ ก็ถูกใส่ชื่อเป็นกรรมการด้วยอีกหลายคน เพื่อให้ครบองค์ประกอบตามระเบียบการจ้าง โดยเอกสารทั้งหมดจะมีพนักงานราชการ หรือลูกจ้างที่เป็นเจ้าของงาน  (อยู่คนละกลุ่มงานกับพ่อ) เป็นคนประสานงานกับผู้รับเหมา ติดตามรวบรวมเอกสารทั้งหมดมาวางไว้ที่โต๊ะของกรรมการแต่ละคน และให้เซ็นชื่อ หลายคนไม่รู้ตัวด้วย ว่ามีชื่อตัวเองเป็นกรรมการ แต่ในเมื่อเป็นคำสั่งผู้บริหารชี้ตัวมาให้ลงชื่อ โดยเฉพาะพ่อเราที่นั่งอยู่ในงานพัสดุยิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนก็ยอมเซ็นชื่อ นั่นแหละ... ข้าราชการในยุคนั้นมักคิดว่า “ระเบียบมีไว้ทำงาน แต่ยืดหยุ่นได้ ตามคำสั่งผู้บริหารระดับสูง” 
 
ด้วยวิธีทำงานแบบเอาเร็วเข้าว่า พอถึงช่วงปลายปีงบประมาณ แต่ละกอง/สำนักจะมีเงินเหลือ ก็จะรวบรวมเงินมาทยอยจ่ายให้กับผู้รับเหมาย้อนหลังจนกว่าจะครบ บางรายรอไป 1 ปี บางรายรอไป 2 ปี จนต้นไม้ ต้นหญ้าที่ปลูกผักชีโรยหน้าในพิธีเปิดอาคาร แห้งเหี่ยวตายไปหมดแล้ว แต่เงินเพิ่งจ่าย ผู้รับเหมาบางรายยังไม่ทันได้รับเงินคืน ก็มาเป็นคดีเสียก่อน ทั้งขาดทุน ทั้งติดคุก  

แม้ว่าพ่อจะเคยพูดกับรองอธิบดีแล้วว่า พ่อไม่สบายใจที่ต้องเซ็นชื่อให้แบบนี้ เพราะมันเป็นเงินจำนวนมาก ในตอนนั้นพ่อรู้แค่เพียงว่างานก่อสร้างถูกเร่งรัดตามนโยบายรัฐมนตรี อธิบดีก็ไปตรวจงานตรวจอาคารแต่ละแห่งด้วยตนเอง ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งหลายก็เห็นว่ามันสร้างเสร็จหมดแล้ว บางศูนย์ฯ ก็มีสมเด็จพระเทพฯ ไปเป็นประธานพิธีเปิด ศูนย์ฯ แต่ละแห่งก็เปิดใช้งานแล้ว แต่กลับยังไม่ได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้ผู้รับเหมา ซึ่งบางศูนย์ฯ ก่อสร้างเสร็จก่อนที่พ่อเราจะย้ายมาช่วยราชการที่ส่วนงานพัสดุเสียอีก แต่ต้องมาเซ็นเอกสารให้เขา

นิสัยพ่อเราเป็นคนใจดี ขี้เกรงใจ หัวอ่อน เจ้านายว่ายังไงก็ว่าตาม แม้ไม่เต็มใจแต่ก็ไม่กล้าขัด รองอธิบดี ซึ่งเป็น ผอ.เก่าของพ่อ ก็พูดแต่ว่าทำได้ ไม่ผิด "ถ้ามีอะไร พี่รับผิดชอบเอง" ทั้งหัวหน้าส่วน และพ่อ จึงยอมปฏิบัติตาม รวมถึงคนอื่นๆ ที่พอเห็นว่าผู้บริหารเห็นชอบ ก็ยอมเซ็นตามๆ กันก็ไปหมด โดยไม่ได้รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวเองในอนาคต ไม่รู้ว่าในอนาคตโทษมันร้ายแรงมากกว่าถูกไล่ออก

ถ้าเป็นเราตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับกับพ่อในตอนนั้น เราก็คงคิดว่าไม่เป็นไร เพราะมันเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ เป็นนโยบายของรัฐบาล ทุกอย่างเกิดขึ้นจริงและมีให้เห็นอยู่เป็นที่ประจักษ์ แถมเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินยังเสด็จไปเปิดงาน มีรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ผู้บริหารระดับสูง แถมอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานยังเดินทางไปตรวจงานก่อสร้างแต่ละแห่งด้วยตนเอง ทุกอย่างเกิดขึ้นจริง ผู้ใหญ่รับรู้ แต่วิธีการใช้งบประมาณราชการ มันไม่ง่ายเหมือนควักเงินในกระเป๋าตัวเองไปจ่าย "พองานเสร็จ มีคนได้หน้า มีคนได้ผลงาน ได้เลื่อนตำแหน่ง แต่เวรกรรมกลับมาตกอยู่กับข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่ถูกสั่งให้ทำงาน"
 
เจ้านายพ่อ เป็นคนเด็ดขาด ชัดเจน กล้าได้กล้าเสีย ก้าวหน้าเร็ว และมีศัตรูจ้องจับผิดอยู่ พอมีการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น สตง. ลงมาตรวจงานย้อนหลัง จึงเป็นจุดเริ่มต้น และจุดจบของอนาคตราชการ และชีวิตในบั้นปลายของตัวเอง

ประมาณปี 2545 สตง. ตรวจสอบเอกสารการทำงานของรองอธิบดี เพราะมีคนไปฟ้องร้องกล่าวหาว่า มีการเบิกจ่ายงบประมาณไป โดยที่ไม่ได้ว่าจ้างจริง แต่ความจริงคือ งานเสร็จไปแล้ว เปิดงานกันไปสวยหรู จบไปหลายปีแล้ว แต่วันที่ในการทำเอกสาร ไม่ตรงกับวันที่ทำเสร็จจริง เพราะงบมีมาทีหลัง 

ผลจากที่พ่อเรายอมเซ็นเอกสารโดยที่คิดง่ายๆ แค่ว่า "เพื่อให้งานมันเสร็จ" และ "กรมพัฒนาฝีมือแรงงานติดหนี้ผู้รับเหมา ก็ต้องจ่ายเงินคืนเขา ไม่งั้นอาจเกิดความเสียหาย มีเรื่องมีราวขึ้นได้"  ความคิดแบบง่ายๆ ซื่อๆ ของพ่อ กลับย้อนมาฆ่าพ่อใน 10 ปีต่อมา ไม่ใช่แค่พ่อที่ตกหลุมพรางการทำงานตามสั่ง โดยไม่คิดถึงภัยที่จะเกิดกับตัวเอง ยังมีอีกหลายสิบคนที่ต้องมาโดนศาลชั้นต้น และศาลอุทรณ์ตัดสินจำคุก 50 ปี ในวัย 60 กว่าปี และศาลไม่ฟังเหตุผลใดๆ ในการกระทำผิด ไม่ให้อธิบายอะไร นอกเหนือจากอธิบายสิ่งที่ ปปช. กล่าวฟ้อง เป็นการตัดสินที่ไร้ความเห็นใจ ไร้การพิจารณาโดยยึดเจตนาในการกระทำผิด "หากเป็นฆาตรกรฆ่าคน แม้รู้ว่าฆ่าคนผิดกฎหมาย แต่ยังกล่าวอ้างได้ว่าทำเพราะบันดาลโทษะ แต่ในศาลทุจริต ศาลกลับพิจารณาว่า เมื่อรู้แล้วว่าผิดแต่ก็ยังเซ็นชื่อ ให้ถือว่าผิดที่สนับสนุน" และนับโทษตามจำนวนลายเซ็น ซึ่งในการเซ็นชื่อเอกสาร กรรมการประกวดราคาต้องเซ็นเอกสารกำกับทุกหน้า แน่นอนว่าบางงานต้องเซ็นคนละเป็นร้อยหน้า

หลังจากมีการสอบสวนตัดสินโทษ ทุกคนก็ถูกไล่ออกจากราชการก่อนวัยอันควร ถือเป็นความผิดที่สาสมแล้วกับการทำผิด และการไล่ออกถือเป็นโทษร้ายแรงสูงสุดของข้าราชการในยุคนั้น แต่เหตุเกิดในปี 2541 – 2545 ทุกคนไม่มีใครรู้เรื่องกฎหมาย ปปช. ไม่เคยมีการอบรมหรือรณรงค์เน้นย้ำ แม้จะรู้ว่าไม่ได้ทำตามระเบียบ แต่จ่ายเงินไปตามงานที่เกิดขึ้นแล้ว อีกทั้งผลการตรวจสอบทางการเงินก็ไม่พบการทุจริต ทุกคนจึงไม่หลบหนี และไม่คิดว่าตนกระทำความผิดร้ายแรง

ศาลทุจริต ไม่ใช่ศาลไคฟง และผู้พิพากษา ก็ไม่ใช่เปาบุ้นจิ้น ขุนนางตงฉิน ควรดูจากเจตนาในการแก้ปัญหาเพื่อประชาชน แต่การตัดสินของศาลกลับไม่ไตร่ตรองเจตนาการกระทำผิดของผู้ถูกกล่าวหา และเราเห็นชัดเจนว่า "ความยุติธรรม มันไม่มีอยู่จริง" กว่าที่เรื่องนี้จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คนที่เป็นอธิบดี คนที่สั่งให้เร่งทำงาน คนที่ลงพื้นที่ไปตรวจงาน คนที่ได้หน้าตอนสมเด็จพระเทพฯ หรือ รัฐมนตรีไปเปิดงาน คนที่ได้ตำแหน่งสูงขึ้นจากผลงานนี้  ต่างก็ถึงวัยเกษียณอายุราชการกันไปแล้ว แต่พอเกิดการฟ้องร้องขึ้น สตง. ปปช. กลับมาลงโทษเฉพาะคนที่ยังรับราชการอยู่ แล้วอ้างว่าอธิบดี ผู้บริหารทั้งหลายเหล่านั้นเกษียณไปแล้ว หมดอายุราชการไปแล้วจึงไม่ฟ้องอีก ซ้ำร้าย ปปช. ยังแยกย่อยคดีออกเป็น 2-3 คดีในการกระทำผิด ทั้งที่มันคือเรื่องเดียวกัน สถานที่ก่อสร้างเดียวกัน แค่คนละชื่อโครงการ
  
ตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นตัดสิน 14 ก.พ. 60 พ่อต้องไปอยู่ในเรือนจำกลางคลองเปรมในวัย 63 ปีในตอนนั้น ด้วยโรคเบาหวาน และมีภาวะเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในนั้นมีคนที่ติดคุกอยู่จำนวนมากที่ตัดสินใจทำงานให้สำเร็จด้วยเจตนาดี มากกว่าคำนึงถึงเรื่องกฎระเบียบ

โทษของการเซ็นเอกสาร สาหัสสากัณฑ์มากกว่าการฆ่าคน โจรกรรม ข่มขืนเสียอีก ในขณะที่ผู้มีอำนาจหลายคนจงใจทุจริต แต่กลับไม่เคยได้รับการลงโทษ ไม่ว่าจะนาฬิกาที่ยืมมา หรือใช้อำนาจครอบครองพื้นที่ป่าสงวน กอบโกยผลประโยชน์ใส่ตัว

ในยุคนั้นกฎระเบียบหละหลวม วัฒนธรรมการทำงานของราชการไม่เคร่งครัด ไม่มีการรณรงค์ตอกย้ำให้ความรู้ เหมือนยุคนี้ แต่ศาลกลับพิจารณาโดยเอาสถานการณ์ปัจจุบันเป็นบรรทัดฐาน ตัดสินโทษที่ย้อนหลังไปเมื่อ 20 ปีก่อน มีความผิดเท่าสถานการณ์ปัจจุบัน

พ่อเป็นคนดีมาก ทำดีมาตลอดชีวิต ทุ่มเททำงานอย่างขยันตั้งใจมาตลอดอายุราชการ มีแต่ให้ ไม่เอารัดเอาเปรียบ แต่กลับต้องมาเจอเรื่องที่ไม่ควรจะเกิด ในวัยที่ควรจะได้ทำในสิ่งที่มีความสุข และเป็นอิสระในวัยหลังเกษียณ

สาวเผยอุทาหรณ์ เรื่องพ่อ หลังเซ็นหนังสือให้เจ้านาย

สาวเผยอุทาหรณ์ เรื่องพ่อ หลังเซ็นหนังสือให้เจ้านาย

สาวเผยอุทาหรณ์ เรื่องพ่อ หลังเซ็นหนังสือให้เจ้านาย

สาวเผยอุทาหรณ์ เรื่องพ่อ หลังเซ็นหนังสือให้เจ้านาย


 

ขอบคุณคนที่อ่านถึงบรรทัดนี้ และขอให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทค่ะ

โดยนอกจากนี้เจ้าตัวยังมาอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ฟังจากหลายความเห็น ขออธิบายเพิ่มเติมค่ะ
1. ขอบคุณสำหรับคนที่เข้าใจการทำงานในระบบและวัฒนธรรมราชการ ที่มีความอะลุ่มอะล่วยกันสูง และเข้าใจว่าการไม่ปฎิบัติตามคำสั่งก็มีผลอย่างอื่นตามมา ไม่ว่าจะการถูกไม่ชอบขี้หน้า การถูกประเมินไม่ดี การถูกกลั่นแกล้ง การไม่ทำตามคำสั่งก็ทำให้อยู่อย่างอึดอัด หัวแข็ง ไม่ก้าวหน้า เราก็รับราชการ ถ้าจะอยู่แบบไม่สนใจความก้าวหน้าในงาน ก็ไม่ต้องทำตามใจใครแบบที่เราเป็น แต่คนเราลักษณะต่างกัน เราเป็นคนแข็ง ถ้าเราไม่อยากทำเราก็กล้าปฏิเสธ แต่พ่อเราเป็นคนอ่อน การยอมต่ออำนาจคนอื่นนั้นมันต่างกัน

2. คนที่สั่ง แต่ไม่ได้เซ็น คืออธิบดี และผู้บริหารระดับสูงอื่นๆ ที่ได้หน้า ได้ผลงาน แต่คนที่เซ็นชื่อคือรองอธิบดี  และหัวหน้างาน พร้อมลูกจ้าง ซึ่งเป็นเจ้าของงาน และเป็นคน Deal งานกับผู้รับเหมา ส่วนคนอื่นๆ รวมทั้งพ่อซึ่งไม่รู้เรื่องด้วยว่าเขาไปตกลงงานกับผู้รับเหมากันยังไง ไม่รู้จักผู้รับเหมาเสียด้วยซ้ำ ทุกคนล้วนมารู้ตอนหลังว่ามีชื่อเป็นกรรมการอยู่ในเอกสารแล้ว บางทีลูกจ้างพิมพ์เอกสารมาผิดเสียด้วยซ้ำ คำสั่งไม่ได้เป็นกรรมการตรวจรับ แต่ดันมาใส่ชื่อเป็นกรรมการตรวจรับ พวกคนที่เซ็นก็เซ็นกันอย่างเดียวจริงๆ เขาให้ทำไรก็ทำ มีเจ้านายยังไง ก็ได้รับผลแบบนั้น

3. พ่อเรายอมรับผิด ที่ไปยอมทำงานตามเจ้านาย และไม่ได้ไปมีผลประโยชน์อะไรกับงานก่อสร้างนี้ด้วย ไม่มีเลยจริงๆ ตรวจสอบการเงินก็ไม่มีผิดปกติ บ้านเราพ่อรับราชการ แม่ทำธุรกิจ ก่อร่างสร้างตัวด้วยการกู้เงิน และค้าขาย รายได้หลักของบ้านมาจากแม่ ถ้าจะพูดเรื่องประเมินความดีความชอบในการทำงาน ตอนประเมินผลงาน พ่อเราก็เป็นคนเดียวที่บอกว่าไม่ต้องประเมินดีเด่นให้เขา แต่ให้เอาวงเงินเอาขั้นไปให้เด็กๆ ลูกน้องที่ทำงาน จะทำให้ลูกน้องได้เงินกันมากขึ้นอีกหลายคน

4. ถ้าถามว่าทำงานกันแบบนี้ โดนไล่ออกกันก็สมควร พ่อเราหัวอ่อนเองที่ไปใจดีช่วยทุกคน แต่สำหรับเรามองว่าการที่ศาลตัดสินโทษขนาดนั้นมันมากเกินไปกับเจตนาการกระทำผิด แทนที่จะลงน้ำหนักไปที่ตัวการ แต่กลับไปลงกับคนที่ไม่รู้เรื่อง ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรด้วย ราชการไม่ได้เสียหาย เพราะงานเสร็จหมดทุกอย่าง มีราคากลาง ราคาประเมิน แต่ผู้รับเหมาต่างหากที่เสียหาย เพราะทำงานแต่ไม่ได้รับเงิน

5. ทุกวันนี้งานราชการ หรือแม้แต่ธนาคาร ทำงานไม่ได้ง่าย ความต้องการสร้างผลผลิต กับกฎระเบียบที่ถูกวางไว้มันไม่สอดคล้องกัน คุยกับคนที่ทำงานในระบบราชการถึงจะเข้าใจ
เราไม่ได้มาเรียกร้องอะไรกับคนนอก มันเป็นเรื่องของครอบครัวเรากับศาล เราไม่ได้บอกว่าพ่อเราและหลายคนที่เซ็นหนังสือไปนั้นทำไม่ผิด แต่เราต้องการให้ศาลพิจารณาโดยดูต้นเหตุ สาเหตุ และเจตนาการกระทำผิดด้วย ยกตัวอย่างฆ่าคนตายก็ผิด แต่ลดหย่อนได้เพราะเกิดจากการบันดาลโทษะ อันมีเหตุให้ลงมือกระทำ

ตามข่าวที่คนไปอ่านกันนั้นไม่ได้อัพเดท และไม่รู้รายละเอียดข้างในที่เกิดขึ้นจริง อีกอย่างศาลตัดสินเอาผิดเพิ่มเติมอีกหลายสิบคนในชั้นอุทรณ์

เราไม่ได้มาเขียนให้สวยหรู แต่อยากให้เข้าใจคนทำงานราชการ และให้คนอื่นๆรู้ไว้เป็นอุทาหรณ์ เหตุมันเกิดขึ้นมาแล้ว สถานการณ์เมื่ออดีตกับปัจจุบันมันต่างกัน ต่อจากนี้ไปจะทำอะไรต้องระมัดระวังตัว ความเคยชิน วัฒนธรรม ธรรมเนียม มันใช้ไม่ได้กับกฎหมายในยุคนี้
แต่เราก็ยังยืนยัน ว่ากฎหมายทำร้ายแค่ปลาซิวปลาส้อย กับคนตัวเล็กๆ ที่ทำผิดพลาดแบบไม่เจตนา แต่กลับทำอะไรไม่ได้กับคนที่ตั้งใจกระทำผิด แต่มีอำนาจ รู้ตัวไว และมีคนช่วยให้หลุดตั้งแต่ต้นทาง และอีกหลายๆ คดีที่ไม่ได้เป็นข่าว

สาวเผยอุทาหรณ์ เรื่องพ่อ หลังเซ็นหนังสือให้เจ้านาย