สื่อนอกตีข่าว "ผู้กล้าที่ไม่ถูกจารึกนาม" ฮีโร่ตัวจริงเบื้องหลังความสำเร็จไทยรับมือโรคระบาด

สื่อนอกตีข่าว "ผู้กล้าที่ไม่ถูกจารึกนาม" ฮีโร่ตัวจริงเบื้องหลังความสำเร็จไทยรับมือโรคระบาด

29 มิ.ย. 2563 สำนักข่าว Bernama ของมาเลเซีย เสนอข่าว “Thailand's village health volunteers -- The kingdom's unsung heroes in curbing COVID-19 pandemic” ระบุว่า ในการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (Village Health Volunteer) หรือ อสม. มีบทบาทสำคัญในฐานะด่านหน้า (Front-line) ตั้งแต่การให้ความรู้ด้านการดูแลสุขอนามัยกับชาวบ้านในชุมชน การเก็บรวบรวมข้อมูลสุขภาพ ไปจนถึงการติดตามคนในชุมชนที่กลับมาจากพื้นที่อื่นและต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

 

Naowarat Yangpu หญิงวัย 57 ปี ทำงานเป็น อสม. ในพื้นที่ อ.บางแพ จ.ราชบุรี มาแล้ว 20 ปี ซึ่งในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชุมชนในการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย ทั้งนี้ ประเทศไทยมี อสม. ประมาณ 1.5 ล้านคน องค์การอนามัยโลก (WHO) กล่าวถึงคนเหล่านี้ว่าเป็นเหมือน “ผู้กล้าที่ไม่ถูกจารึกนาม (Unsung Heroes)” ที่ทำให้ไทยนั้นประสบความสำเร็จในการรับมือโรคระบาด โดยเป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่แบบระบาดในประเทศ

ก่อนหน้านี้หากย้อนไปเมื่อเดือน ม.ค. 2563 ที่เริ่มมีรายงานการระบาดของไวรัสโควิด-19 หากไม่นับประเทศจีนที่เป็นต้นตอการระบาด ไทยยับเป็นประเทศแรกที่พบผู้ติดเชื้อโดยพบตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. 2563 และในวันที่ 22 มี.ค. 2563 เป็นวันที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุดถึง 188 คน โดยล่าสุดมีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 3,100 คน และเสียชีวิตรวม 58 ราย ทั้งนี้ อสม. เป็นโครงการที่เกิดขึ้นในปี 2520 รับสมัครประชาชนมาฝึกอบรมให้ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพเบื้องต้นกับคนในชุมชน

ชาติชาย มุกสง (Chatichai Muksong) อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า อสม. ที่มีกำลังพลอยู่ราว 1.5-2 ล้านคนทั่วประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านสาธารณสุขของไทยโดยเฉพาะในยามวิกฤติ และไม่ใช่เฉพาะการระบาดของไวรัสโควิด-19 เท่านั้น แต่คนเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการควบคุมโรคติดต่อมาแล้วหลายครั้ง ทั้งเอดส์ (HIV-AIDS) ซารส์ (SARS) และไข้หวัดนก

 

สื่อนอกตีข่าว \"ผู้กล้าที่ไม่ถูกจารึกนาม\" ฮีโร่ตัวจริงเบื้องหลังความสำเร็จไทยรับมือโรคระบาด

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของไทย ระบุว่า เครือข่าย อสม. มีส่วนช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อเอดส์รายใหม่ จากที่มีมากถึง 1 แสนคนในปี 2538 ลงมาเหลือเพียง 13,936 คนในปี 2550 อสม. สามารถตรวจสอบสุขภาพคนในชุมชนและเตือนไปยังบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทรัพยากรมีจำกัด คนเหล่านี้เป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาครัฐกับชาวบ้านในท้องถิ่น เนื่องด้วยชาวบ้านมีแนวโน้มจะเชื่อฟังคนในชุมชนเดียวกันมากกว่า

น.พ.เกียรติศักดิ์ นิธิเศรษฐทรัพย์ (Kiatisak Nitisetasa) รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางแพ เปิดเผยว่า ทางโรงพยาบาลได้ฝึกอบรมให้ อสม. มีศักยภาพในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในชุมชน คนเหล่านี้เข้าใจและสามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชาวบ้านในพื้นที่ เมื่อชาวบ้านมีความเชื่อมั่นก็จะนำไปสู่มาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ

Cr.แนวหน้า