- 28 ก.ค. 2563
นักสำรวจ ขุดหลุมสำรวจความลึก 4เมตร พบฟอสซิลปลา
วันที่ 27 กรกฎาคม 2563 สำนักข่าว INN รายงานว่า ดร.อุทุมพร ดีศรี อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มมส. หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วย ดร.บูเซียน คาลูฟี (Dr. Bouziane Khalloufi) นักวิจัยศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา ผศ.ดร. คมศร เลาห์ประเสริฐ หัวหน้าภาควิชาชีววิทยา และนิสิตภาควิชาชีววิทยา รวมทั้งสิ้น 9 คน ซึ่งเป็นคณะวิจัยโครงการศึกษาความหลากหลายซากดึกดำบรรพ์ปลากระดูกแข็งสมัยไมโอซีน จ.เพชรบูรณ์ ลงพื้นที่ขุดสำรวจชั้นดินบริเวณที่มีการขุดพบฟอสซิลปลาเมื่อปี 2544 ที่ ต.ท่าพล อ.เมืองเพชรบูรณ์ โดยคณะวิจัยฯ มีการใช้รถแบ็กโฮเปิดหน้าดินและขุดหลุมสำรวจความลึกราว 3-4 เมตร เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลแนวการวางตัวของชั้นหินและชั้นที่มีการพบฟอสซิลปลาดังกล่าว
ในการขุดสำรวจเก็บข้อมูลครั้งนี้ทางคณะวิจัยฯ พบชั้นตะกอนที่พบฟอสซิลปลาและพืชสะสมตัวในชั้นแรกที่ความลึกราว 1 เมตรจากผิวดินใหม่ และยังพบลึกลงไปอีกหลายชั้น โดยบ่งชี้ว่าพื้นที่นี้ในอดีตเคยเป็นทะเลสาบน้ำจืดมาก่อน มีการทับถมตะกอนท้องน้ำพร้อมกับพืชและสัตว์มากมาย เมื่อกาลเวลาผ่านไปหลายสิบล้านปีต่อมา สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป จากทะเลสาบกลายเป็นพื้นดินแทน จนกระทั่งมีการขุดพบซากปลาและซากพืชที่แปรสภาพเป็นฟอสซิลแล้ว
ดร.บูเซียน คาลูฟี (Dr. Bouziane Khalloufi) นักวิจัยศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา กล่าวผ่านล่ามว่า การศึกษานี้มีความสำคัญต่อองค์ความรู้บรรพชีวินวิทยา ทั้งด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิต ในสมัยไมโอซีน เมื่อราว 10-15 ล้านปีก่อน ทั้งนี้ประเทศไทยมีการค้นพบฟอสซิลปลาโบราณจำนวนมากจากยุคไดโนเสาร์ ประมาณ 150 ล้านปีก่อน แต่การเจอฟอสซิลปลาในยุคที่ใหม่กว่าเช่นนี้ยังต้องการข้อมูลวิจัยเพิ่มเติมอีกมาก ซึ่งนับว่าแหล่งปลาในจังหวัดเพชรบูรณ์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขอบคุณภาพจาก สำนักข่าว INN