สธ.แนะ "เวิร์กฟรอมโฮม" ต่อ เร่งสอบข้อเท็จจริงพบคนญี่ปุ่นติดเชื้อหลังกลับจากไทย

สธ.แนะ "เวิร์กฟรอมโฮม" ต่อ เร่งสอบข้อเท็จจริงพบคนญี่ปุ่นติดเชื้อหลังกลับจากไทย

วันที่ 10 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ของประเทศไทยกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ระลอกที่ 2 ว่า สถานการณ์ของประเทศไทยขณะนี้ยังเป็นการพบผู้ป่วยในสถานกักกันโรคฯ ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ เฉลี่ยวันละ 5-6 ราย ขึ้นอยู่กับว่ามีผู้เดินทางเข้ามามากน้อยแค่ไหนและเดินทางมาจากประเทศใด ดังนั้น ประเทศไทยยังมีโอกาสกลับมาพบผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องเหมือเดิม สิ่งที่ควรเข้าใจ คือ ประเทศไทยยังมีโอกาสเจอการแพร่ระบาดในประเทศได้ และอยากให้ประชาชนตระหนักว่า หากกลับมาเจอผู้ป่วยในประเทศอีกครั้ง ควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรไม่ให้การแพร่กระจายกว้างขวาง ขณะเดียวกัน สถานการณ์โลกมีผู้ป่วยสะสมถึง 20 ล้านคน และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในแต่ละวัน ซึ่งในทุก 4-5 วัน จะมีผู้ป่วยเพิ่มประมาณ 1 ล้านคน

สธ.แนะ "เวิร์กฟรอมโฮม" ต่อ เร่งสอบข้อเท็จจริงพบคนญี่ปุ่นติดเชื้อหลังกลับจากไทย

 

“อัตราป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน พบว่าทั่วโลกที่มีอัตราการป่วยเพิ่มสูงขึ้น แต่ประเทศนิวซีแลนด์ และไทยมีการระบาดที่สูงเพียงเดือนมีนาคม โดยไทยและนิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่มีการควบคุมโรคที่ดีได้รับการยอมรับจากทั่วโลก มีอัตราการป่วยแตกต่างจากทั่วโลกมาก ประเทศสหรัฐอเมริกา บราซิล มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก เพิ่มขึ้นวันละกว่าหลายหมื่นราย ซึ่งถามว่าจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกมีตามนี้หรือไม่ คำตอบคือไม่ มีการศึกษาในหลายประเทศระบุว่า จำนวนรายงานผู้ป่วยอาจต่ำกว่าจำนวนผู้ป่วยจริงถึง 10 เท่า เช่น เมื่อวานนี้ (9 สิงหาคม) สหรัฐอเมริกา มีการรายงานผู้ป่วยประมาณ 4 หมื่นราย แต่ความเป็นจริงอาจจะมีสูงถึง 4 แสนราย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สาเหตุอาจจะเกิดจากผู้ป่วยไม่ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อ เช่น ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ หรือผู้มีอาการน้อยมากและเข้าใจว่าเป็นการป่วยด้วยไข้หวัดธรรมดา อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการติดเชื้อในประเทศที่มีการระบาดรุนแรง ยังไม่สูงมาก ดังนั้น ความหวังว่าจะเกิดการระบาดเพื่อก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อให้โรคชะลอตัวได้เองโดยไม่หวังรอวัคซีนมีความเป็นไปได้ แต่จะต้องใช้ระยะเวลาที่นาน และช้ากว่าที่หลายฝ่ายตั้งไว้ค่อนข้างมาก

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ในต่างประเทศที่ไทยต้องจับตาดู คือ ประเทศเวียดนาม โดยก่อนหน้าที่พบการระบาดรอบใหม่ในช่วงเดือนกรกฎาคม มีผู้ป่วยเพียง 400 ราย และส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ ซึ่งคล้ายกับไทยในขณะนี้ เวียดนามมีอัตราการติดเชื้อค่อนข้างต่ำ เนื่องจากมีการปิดเมืองเร็ว แต่เมื่อการแพร่ระบาดที่เมืองดานัง เป็นการระบาดระลอกใหม่ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่าระลอกแรก อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการเข้มงวด ทำให้มีการชะลอตัวของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าการระบาดระลอกนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มีการตั้งสมมติฐานว่า 1.ยังมีผู้ป่วยหลงเหลืออยู่ เมื่อมีมาตรการผ่อนคลายตนเอง จึงพบการติดเชื้อ ร่วมกับมีการแพร่ระบาดในโรงพยาบาล 2.การนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศ ซึ่งมีหลายคนมองว่ามีความเป็นไปได้ เนื่องจากอาจจะมีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือ มีช่องโหว่ในสถานกักกันโรคฯ ประเทศไทยจะต้องเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากสถานการณ์ของเวียดนามและไทยไม่ต่างกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเทศไทยจะมีโอกาสกลับมาเจอการระบาดระลอกที่ 2 หรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า คิดว่ามีโอกาสค่อนข้างสูงที่ประเทศไทยจะกลับมาเจอผู้ป่วยใหม่อีกครั้ง แต่หวังว่าจะไม่มีการแพร่ระบาด หรือจะสามารถควบคุมโรคได้ในระยะเวลาอันสั้น จะต้องแบ่งเป็น การพบผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ กับการแพร่ระบาดของโรค โดยการเจอผู้ป่วยใหม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่การระบาดนั้นขึ้นอยู่กับว่า เมื่อมีผู้ป่วยแล้วจะค้นหาผู้ป่วยเร็วแค่ไหน และการสอบสวนโรค ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดได้เร็วแค่ไหนเพื่อการควบคุมโรค ทั้งนี้ รวมถึงประชาชนในพื้นที่พบผู้ป่วยรายใหม่ว่า มีความร่วมมือในการป้องกันโรคมากน้อยแค่ไหน หากมีความร่วมมือที่ดีอย่างเช่นเดือนมีนาคม-เมษายน เชื่อว่าจะเจอผู้ป่วยแต่จะไม่มีการระบาด

“ยิ่งเมื่อเราผ่อนคลายมากเท่าไร ความเสี่ยงในการกลับมาแพร่ระบาดของโรคจะสูงมากเท่านั้น เราเรียนรู้จากประเทศที่มีการระบาดระลอก 2 แล้ว เช่น เวียดนาม มีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น มีการเปิดสถานบันเทิง การจัดอีเว้นต์ที่มีผู้คนเข้าร่วมมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเรามีการลดหย่อนความเข้มข้นในการป้องกันตนเองจะเป็นความเสี่ยง ว่า เมื่อเกิดโรคขึ้นแล้ว มันจะหยุดได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากต้องมีการปรับตัวเข้าสู่มาตรการที่เข้มข้นขึ้น ทั้งนี้ขอให้ประชาชนยังคงรักษามาตรการป้องกันโรค 1.เลี่ยงสถานที่แออัด 2.สวมหน้ากากป้องกัน 3.ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ 4.รับประทานอาหารร้อน และ 5.ใช้ช้อนกลาง” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มาตรการที่ยังต้องคงไว้ 1.การให้ทำงานที่บ้าน เพื่อให้ประชาชนออกมาพบปะกันน้อยที่สุด เช่น รถสาธารณะ พื้นที่ทั่วไป รถไฟ 2.การเหลื่อมเวลาทำงาน 3.การจัดการคัดกรองร่างกายพนักงาน 4.การจัดสถานที่ทำงานให้มีระยะห่างกัน และ 5.ให้ผู้ที่มีอาการป่วยโรคระบบทางเดินหายใจพักอยู่บ้าน เนื่องจากระยะนี้เข้าสู่หน้าฝนและหน้าหนาวในระยะถัดไป สิ่งที่จะต้องพบ คือ โรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย มาตรการอนุญาตให้ผู้ที่มีอาการป่วยไข้ ไอ เจ็บคอ พักอยู่บ้าน ยังคงสำคัญและจำเป็นอย่างมาก

“ถึงแม้ว่าวันที่เรามีวัคซีน เราก็จะเจอผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยได้ แต่หวังว่าหากเรามีจำนวนวัคซีนที่เพียงพอ ที่ไม่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดใหญ่ จนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล และการมีวัคซีนไม่ได้แปลว่าโรคจะหมดจากประเทศไทย เพียงแต่ว่าเราจะลดความเสี่ยงของโรคให้ได้มากที่สุด” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามถึงความคืบหน้าของการการจัดตั้งสถานกักกันโรคโดยหน่วยงาน (Organizational Quarantine: OQ) ของผู้ประกอบการที่ต้องการนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ด้วยสภาพของเศรษฐกิจ คาดว่าความต้องการแรงงานต่างด้าวของไทยไม่ได้มีจำนวนมาก รวมทั้งยังไม่มีชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยว ซึ่งอาจจะมีแรงงานต่างด้าวเดินทางเข้ามาไม่มาก แต่เบื้องต้นที่ทราบคือ ขณะนี้ยังไม่มีสถานประกอบใดทำการยื่นขอให้มีการประเมินสถานกักกันโรคโดยหน่วยงาน

เมื่อถามถึงกรณีสื่อญี่ปุ่นรายงานว่า มีชายญี่ปุ่นอายุ 40 ปี ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ภายหลังเดินทางกลับจากประเทศไทย ถึงญี่ปุ่นวันที่ 8 สิงหาคม ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานขอข้อมูลกับทางการญี่ปุ่น

เมื่อถามว่าการที่ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐประเมินว่า ไทยและนิวซีแลนด์มีความเสี่ยงต่ำ ในขณะที่ประเทศรอบๆ ไทย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยน้อยกว่าเหตุใดถึงได้รับการประเมินเป็นประเทศเสี่ยงสูง นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า กรณีนี้ยังไม่ได้ดูรายละเอียด แต่หากเป็นการประเมินรอบแรก ผู้ประเมินจะดูเรื่องจำนวนผู้ป่วย ความเข้มแข็งของการควบคุมโรค จำนวนผู้เสียชีวิต ดูโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งของไทยมีอัตราเสียชีวิตต่ำ สิ่งหนึ่งที่ต้องแสดงให้เห็นให้ได้ คือมาตรการควบคุมป้องกันโรคนั้นทำได้ดี ทำได้เต็มที่หรือไม่ ซึ่งเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีบทความเกี่ยวกับการระบาดในเวียดนามระลอกใหม่นั้น เกิดจากการมีผู้ป่วยค้างในประเทศ และทางการเวียดนามตรวจเจอผู้ป่วยได้ช้าไป 2 สัปดาห์ ทำให้การควบคุมโรคทำได้ช้าไปด้วย ดังนั้น การจะทำให้ได้รับการยอมรับว่าคุมโรคได้ดีอย่างน้อยต้องแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งในการตรวจค้นหาเชื้อ และถ้าไทยเกิดเจอผู้ติดเชื้อการจะคุมโรคให้ได้เร็วก็ต้องค้นหาผู้ป่วยให้ได้เร็ว

 

“วันนี้ในส่วนของประเทศไทยเองก็ยอมรับว่าตรวจน้อย ไม่ถึงร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ป่วยปอดบวม เพราะส่วนหนึ่งหาสาเหตุได้ อย่างไรก็ตาม อยากให้สถานพยาบาลเพิ่มการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยปอดบวมทุกราย เพราะถ้าดูที่การระบาดในเวียดนามครั้งนี้เป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดเพราะยังมีคนป่วยหลงเหลืออยู่ในประเทศ ถ้าเราไม่อยากให้คนไข้หลงเหลือเราต้องตรวจให้เร็ว ตรวจให้ครอบคลุมกลุ่มอาการที่เรากำหนด คือปอดบวม ปอดอักเสบ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีอาการ คล้ายไข้หวัดใหญ่ กรณีเกิดการป่วยเป็นกลุ่มก้อน หรือเน้นไปบางพื้นที่ ทุกอย่างต้องมีคำอธิบาย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว