- 19 ส.ค. 2563
หนุ่มการไฟฟ้าเจอศึกหนัก เปิดตู้จะจดมิเตอร์ไฟแต่มีเจ้าของจับจองอยู่ก่อนแล้ว
โดดถอยหลังแทบไม่ทัน เมื่อหนุ่มการไฟฟ้าออกทำหน้าที่ไปจดมิเตอร์ตามเสาไฟ ทว่าเมื่อเปิดตู้ไฟดูกลับเจอเจ้าของตู้จ้องหน้าเขม็ง ต้องรีบถอยออกมาตั้งหลักเพราะท่าทางเจ้าของบ้านนี้จะไม่ปลื้ม
สมาชิกเฟซบุ๊กชื่อ สรร ท่ายาง โพสต์รูปวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ขณะออกทำหน้าที่จดมิเตอร์ไฟ เขาเปิดตู้ไฟฟ้าที่ติดอยู่กับเสาไฟต้นหนึ่ง ทันทีที่เปิดออกข้างในนอกจากมีมิเตอร์ไฟฟ้าแล้วเขาก็สบตากับงูเห่าตัวใหญ่ตัวหนึ่งเข้าอย่างจัง ที่สำคัญเหมือนมันจะคิดว่าเขาจะไปรบกวนหรือทำอันตรายเพราะมันได้แผ่แม่เบี้ยใส่เขาพร้อมชูคอจ้องหน้าเขม็ง โชคดีที่เห็นทันไม่ยื่นมือเข้าไปข้างในก่อน และงูเห่าตัวนี้ก็คงรอดูท่าทีไม่โจมตีเขาทันทีที่ถูกรบกวนไม่เช่นนั้นคงได้เป็นเรื่องใหญ่
แล้วกูจะเข้าไปจดยังไงว่ะเนี้ย แผ่แม่แบ้ใส่ด้วย
สำหรับงูเห่าเป็นที่รู้กันว่าเป็นงูพิษที่ร้ายในอันดับต้นๆและในประเทศไทยก็มีรายงานว่าพบเจอได้ทั่วไปเพราะมันมักจะมาหากินตามแหล่งที่มีอาหารและหลายๆครั้งแหล่งอาหารของมันก็คือแหล่งชุมชนที่คนอาศัยกัน
เกร็ดความรู้จาก นายสัตวแพทย์ทักษะ เวสารัชชพงศ์ จากสวนงู สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เคยได้แบ่งปันความรู้ในงานเสวนางานหนึ่ง และได้สอนถึงวิธีการรับมือหากต้องเผชิญหน้ากับงูเอาไว้ว่า
ตามปกติแล้ว พฤติกรรมทั่วไปของงูเป็นสัตว์ที่กลัวมนุษย์อยู่แล้ว มักจะหลบซ่อนตัวอยู่เสมอ แต่กรณีที่พบเจองูตามที่ต่างๆ หรือภายในบ้านมักจะเกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ การป้องกันอันตรายจากงู สิ่งสำคัญคือการเข้าใจพฤติกรรมและธรรมชาติของงูเสียก่อน
“ด้วยวิธีการสอนของคนรุ่นเก่าที่ทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่างูเป็นสัตว์ที่อันตราย ไม่ควรจะเข้าใกล้ ส่วนตัวถามว่างูมีอันตรายไหม แน่นอนว่ามี เพราะสัตว์ทุกชนิดมีอันตรายในตัวของมันเอง แต่งูบางชนิดที่มีพิษที่อาจอันตรายถึงชีวิต ซึ่งถ้าไม่รู้จักมันจริงๆ ก็ไม่ควรไปเกี่ยวข้อง ยุคสมัยใหม่จึงควรสอนให้อยู่ในหลักความจริงมากขึ้น ไม่ใช่ว่าเจองูมีพิษจะต้องฆ่ามันเพียงอย่างเดียว การป้องกันตัวเองจากงู ต้องทำความรู้จักงูให้มากขึ้น เพราะงูไม่ได้มีนิสัยก้าวร้าว” นายสัตวแพทย์ทักษะเน้นย้ำถึงการทำความเข้าใจกับธรรมชาติของงูให้มากขึ้น
หลังจากที่ทำความเข้าใจแล้ว ถ้าต้องเผชิญหน้ากับงูเข้าจริงๆ นายสัตวแพทย์ทักษะก็มีข้อปฏิบัติที่ถูกต้องมาแนะนำดังต่อไปนี้ “เมื่อเผชิญหน้ากับงูที่อยู่ในบ้าน ต้องตั้งสติก่อน รักษาระยะห่างไว้ อย่าไปตีงูโดยไม่จำเป็น เพราะอาจเสี่ยงต่อการถูกงูกัดได้ วิธีการที่ถูกต้องคือควบคุมพื้นที่ของงูให้อยู่ในห้องปิด แล้วจึงค่อยเรียกเจ้าหน้าที่มาจับ ถ้าเราไม่กันพื้นที่ไว้มันอาจจะหายไปจนหาไม่เจอ หรือถ้าเจองูที่นอนอยู่เฉยๆ ให้ใช้กะละมังหรือถังใบใหญ่ครอบไว้ แต่ต้องไม่ตากแดด ไม่อย่างนั้นงูอาจร้อนตายได้ แล้วจึงค่อยเรียกเจ้าหน้าที่มาจับ เป็นวิธีที่สะดวกและง่ายที่สุด”
ส่วนในกรณีที่พบเจอกับงูพิษอย่างงูเห่าหรืองูเขียวหางไหม้ก็มีข้อปฏิบัติดังต่อไปนี้ “งูเห่าเป็นงูที่ออกอาการเตือนเราอยู่เสมอด้วยการแผ่แม่เบี้ย พยายามรักษาระยะห่างไว้ก่อน อย่าไปตีหรือไล่ เพราะอาจทำให้โดนกัดได้ แต่ถ้าเป็นงูเขียวหางไหม้ที่มักหลบซ่อนตามพุ่มไม้ โอกาสที่จะพลาดแล้วโดนกัดมีมากกว่า วิธีป้องกันคือ ถ้าเราจะเข้าพุ่มไม้หรือจุดที่ไม่แน่ใจ ให้หาไม้แหย่หรือเคาะแรงๆ ก่อน จะทำให้มันขยับตัวออกมาให้เราเห็น”
ขอบคุณ สรร ท่ายาง และ นายสัตวแพทย์ทักษะ เวสารัชชพงศ์