- 09 ก.ย. 2563
คนที่ชอบซื้อของออนไลน์มากเกินไป อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคทางจิต
โปรโมชั่นล่อตาล่อใจอย่าง "9.9" วันที่ 9 เดือน 9 ของทุกปี หรือโปรโมชั่นใดๆ ก็ตามที่ชวนให้ควักกระเป๋าซื้อของแบบง่ายดาย ไม่ว่าจะมีเหตุผลในการซื้อหรือไม่ก็ตาม การซื้อของช้อปปิ้งที่เกินพอดีมีภัยซ่อนอยู่ หากการซื้อนั้นกลายเป็นคนส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ กลายเป็นคนคลั่งช้อปฯ จนนำไปสู่ "โรคเสพติดช้อปปิ้ง" หรือ "Shopaholic"
ทำความรู้จักกับโรค “Shopaholic” โรคที่เกี่ยวกับการช้อปปิ้งจนทำให้เกิดปัญหาตามมา ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความต้องการหรืออยากซื้อของตลอดเวลา มีความรู้สึกดีที่ได้เดินดูของ รู้สึกดีเมื่อได้เปรียบเทียบราคา และรู้สึกดีเมื่อได้ซื้อของ แต่ก็จะรู้สึกดีได้แค่ช่วงเวลาเดียว และจะรู้สึกผิดหลังจากที่ซื้อมาแล้ว เพราะคนที่เป็นโรคนี้มักจับจ่ายเกินความจำเป็น หลายครั้งซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ บางครั้งซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกจนมีของเดิมๆ เต็มไปหมด รวมถึงมีปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น กลายเป็นหนี้สิน ทะเลาะกับคนในครอบครัว บางครั้งซื้อมาแล้วต้องโกหกคนในครอบครัวว่ามีคนให้มา หรือบอกราคาที่ถูกกว่าราคาจริงที่ซื้อ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เวลาซื้อของเหล่านั้น เป็นต้น
กลุ่มคนที่เป็นโรคนี้จะมีตั้งแต่วัยรุ่นขึ้นไป เพราะวัยนี้เป็นวัยที่มีกำลังซื้อในระดับหนึ่ง ส่วนมากผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ชายก็มีสิทธิ์เป็นโรคนี้ได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรค Shopaholic ก็มีเพศชายรวมอยู่ด้วย สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเสพติดช้อปปิ้งมีหลายปัจจัยด้วยกัน อาจมาจากตัวบุคคล เช่น มีภาวะซึมเศร้า ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง หรือมีภาวะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ มีความวิตกกังวล เป็นคนสมาธิสั้น เป็นต้น นอกจากตัวบุคคลปัจจัยทางสังคมก็ส่งผลให้เป็นโรคนี้ได้ด้วย เช่น ช่องทางออนไลน์ที่เอื้ออำนวยต่อการซื้อได้อย่างง่ายดาย มีส่วนกระตุ้นให้คนตกอยู่ในภาวะเสพติดช้อปปิ้งได้ รวมถึงสื่อโฆษณาที่มีส่วน หากตัวบุคคลได้มองเห็นภาพสิ่งของที่ตัวเองสนใจบ่อยๆ ก็ทำให้ตัดสินใจซื้อในที่สุด ซึ่งปัจจุบันสื่อเหล่านั้นยังเข้าถึงคนได้ง่ายขึ้นด้วย ผ่านช่องทางออนไลน์เช่นกัน
วิธีสังเกตตัวเองและคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคนี้หรือไม่นั้น ให้ดูว่าการจับจ่ายมากเกินความจำเป็นหรือไม่อย่างไร หากสิ่งของเหล่านั้นถูกซื้อมาทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ หรือซื้อซ้ำๆ ทั้งที่มีอยู่แล้วหลายชิ้น รวมถึงในรายที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เวลาซื้อของเข้าบ้าน ซื้อมาแล้วมีปัญหากับคนที่บ้านแต่ก็ยังตัดสินใจซื้อ อาจเข้าข่ายเป็นโรค
ภาวะเสพติดการช้อปปิ้งอาจส่งผลกระทบอื่นๆ เช่น ถ้าหากทะเลาะกับคนในครอบครัว อาจส่งผลให้เกิดการแยกตัวออกจากสังคม เกิดภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล ฯลฯ ได้ด้วย วิธีการรักษาอาการนี้คือการพูดคุยปรึกษาเพื่อปรับพฤติกรรม ในต่างประเทศมีการจัดกลุ่มบำบัด คือจะเอาคนที่มีภาวะนี้มารวมกลุ่มกันและทำการปรับพฤติกรรมร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติ เพื่อทำการแก้ไข รวมถึงการตระหนักและเท่าทันภาวะอารมณ์ของคนที่เป็นโรคว่าเกิดจากอะไร ช่วยให้แก้ไขได้ง่ายขึ้น เช่น ซื้อของเพื่อบำบัดความเหงา บำบัดความเครียด บำบัดความเศร้า เป็นต้น
โดยโรคดังกล่าวเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการรักษาที่ถูกต้อง มีการรู้เท่าทันภาวะอารมณ์ รู้ถึงเหตุผลของการจับจ่าย นำไปสู่การจัดการภาวะอารมณ์ที่ดีขึ้น ตัวโรคก็จะดีขึ้นตามลำดับ และสามารถหายขาดได้ในที่สุด สำหรับยารักษาถ้าหากว่ามีโรคอื่นร่วมด้วยจึงจะมีการใช้ยา เช่น ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล เป็นต้น
สุดท้ายนี้ถึงแม้ว่าโรคดังกล่าวจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ปัจจุบันผู้ชายก็สามารถเป็นได้เช่นกัน จากการสำรวจพบว่าผู้ชายจะช้อปปิ้งสิ่งของที่อยู่ในความสนใจของตนเอง เช่น รถยนต์ ของแต่งรถ เกมส์ โมเดลสะสม สินค้าไอที เป็นต้น