- 17 ก.ย. 2563
ชาวนา แทบสิ้นสติ ขุดพบซากไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ถูกฝังทั้งเป็นเมื่อ 125 ล้านปีก่อน
เว็บไซต์เดลี่เมล มีรายงานกรณีการค้นพบซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ชนิดใหม่ 2 ตัว ในมณฑลเหลียวหนิง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งนักบรรพชีวินวิทยาคาดว่าไดโนเสาร์ทั้ง 2 ตัวนี้ได้ถูกฝังทั้งเป็นอยู่ภายในโพรงใต้ดิน เมื่อราว 125 ล้านปีก่อน ขณะเกิดภูเขาไฟระเบิด
ซากฟอสซิลนี้ถูกขุดพบโดยชาวนา ในพื้นที่ซึ่งถูกเรียกว่า The Lujiatun Beds สภาพของซากไดโนเสาร์ถูกเก็บรักษาไว้อย่างสมบูรณ์ในโพรงใต้ดิน โดยนักบรรพชีวินวิทยาสังเกตว่าตาของพวกมันปิดอยู่ พวกมันนอนหลับตาอยู่บนพื้น ราวกับตายไปขณะหลับใหล ทำให้มีการตั้งชื่อแก่พวกมันว่า "Changmiania liaoningensis" ซึ่งมีความหมายในภาษาจีนว่า ผู้หลับใหลชั่วนิรันดร์จากเหลียวหนิง
ภายในงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านวารสาร PeerJ เมื่อวันที่ 8 กันยายน มีการตั้งสมมติฐานคร่าว ๆ ว่า Changmiania liaoningensis คู่นี้ถูกขังไว้ภายในโพรงที่ถล่มลงมา ขณะที่พวกมันกำลังพักผ่อน ซึ่งสามารถอธิบายได้ถึงลักษณะของพวกมันที่มีความสมบูรณ์ โดยไม่มีร่องรอยผุกร่อนหรือมีใครมาขุดคุ้ยทำลายเลย
อนึ่ง ขณะนี้ซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ทั้ง 2 ตัว ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาแห่งเหลียวหนิง โดยทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากชาติต่าง ๆ ทั้ง จีน อาร์เจนตินา และเบลเยียม กำลังร่วมกันศึกษากายวิภาคที่เป็นเอกลักษณ์ของมัน
ทั้งนี้ Changmiania liaoningensis ทั้งคู่มีความยาวเกือบ 1.1 เมตร คาดว่ามันเป็นไดโนเสาร์ประเภทออร์นิโทพอตในยุคต้น ๆ โดยออร์นิโทพอตเป็นไดโนเสาร์ที่สามารถเดินได้ด้วยขาเดียว มีปากเหมือนเป็ด นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากขาหลังที่ยาวและทรงพลัง หางที่ยาวและแข็ง ทำให้คาดว่ามันน่าจะเป็นนักวิ่งที่รวดเร็วอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่นี้ยังน่าจะมีความเชี่ยวชาญด้านการขุดโพรง โดย ปาสคาล กอร์ดฟอร์ต นักวิจัยอาวุโส และนักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งราชบัณทิตยสถานเบลเยียม (Royal Belgian Institute of Natural Sciences) เผยว่า ลักษณะบางอย่างของโครงกระดูก ชี้ให้เห็นว่ามันสามารถขุดโพรงได้เหมือนกับที่กระต่ายทำได้ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากฟอสซิลถูกขุดพบโดยชาวนา ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ทำให้รายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับตำแหน่งที่ตั้งของมันยังไม่ได้มีการศึกษา
ขอบคุณข้อมูลจาก KAPOOK, Daily Mail, Live Science, Yang Y, Wu W, Dieudonne P, Godefroit P. 2020. A new basal ornithopod dinosaur from the Lower Cretaceous of China. PeerJ