- 18 ก.ย. 2563
ทบ. ระดมกำลัง จับมือทุกภาคส่วน ช่วยเหลือประชาชนรับมือ พายุโนอึล ที่จะเข้าไทย
เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมา กองทัพบกจับมือทุกส่วน พร้อมดูแลช่วยประชาชนรับมือพายุ “ โนอึล ” 18-20 ก.ย. นี้
ตามที่มีการประกาศแจ้งเตือน ว่าอาจภาวะฝนตกตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน จากอิทธิพลของ พายุโซนร้อน “โนอึล”ช่วง 18-20 ก.ย. 63 ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย
ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก ได้แจ้งเตือนให้ทุกกองทัพภาค และมณฑลทหารบก เตรียมการช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มขีดความสามารถ โดยยึดถือตามแผนบรรเทาสาธารณภัยของกองทัพบก และบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้หน่วยทหารกองทัพบกได้เตรียมความพร้อม กำลังพล, ยุทโธปกรณ์บรรเทาภัย และเครื่องมือช่าง สามารถเข้าปฎิบัติการช่วยเหลือได้ทันที เน้นการป้องกันพื้นที่สำคัญ ดูแลให้ประชาชนมีความปลอดภัยและสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่องตามพื้นฐานปัจจัย 4
สำหรับในพื้นที่เสี่ยงหน่วยทหารของกองทัพบกได้เข้าไปตั้งที่ทำการส่วนหน้า โดยมีการเตรียมชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว เพื่ออยู่เป็นเพื่อนและพร้อมช่วยเหลือประชาชนทันทีหากเกิดสถานการณ์ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกองทัพบก ที่เน้นการป้องกันความเสียหาย ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในทุกภัยพิบัติ รวมถึงได้มีการแจ้งเตือนข่าวสารให้ชุมชนได้รับทราบถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศต่อเนื่อง ทั้งนี้ในบางพื้นที่อาจต้องเสริมความแข็งแรงของอาคารสิ่งปลูกสร้างลดความเสี่ยง โดยทุกการปฏิบัติจะบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนรวมถึงจิตอาสาภัยพิบัติ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนอย่างดีที่สุด
นอกจากนี้กองทัพบกยังได้มอบหมายให้หน่วยทหารที่มีขีดความสามารถทางด้านเทคนิคในพื้นที่ส่วนกลาง ได้เตรียมกำลังพล, ยานพาหนะ, เครื่องมือช่าง, อากาศยาน, รถครัวสนาม และเวชภัณฑ์ พร้อมส่งเข้าไปสนับสนุนเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีการร้องขอ หรือพื้นที่ที่ภัยพิบัติมีการขยายวงกว้างขึ้น
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนภัยพายุ ฉบับที่ 10 ว่า
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา
"พายุระดับ 3 (โซนร้อน) “โนอึล” (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 18 - 20 กันยายน 2563)"
ฉบับที่ 10 ลงวันที่ 18 กันยายน 2563
เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (18 ก.ย. 2563) พายุระดับ 3 (โซนร้อน) “โนอึล” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 170 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 15.7 องศาเหนือ ลองจิจูด 109.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือ ด้วยความเร็ว 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง บริเวณเมืองดานังในวันนี้ (18 ก.ย. 2563) จากนั้นจะเคลื่อนเข้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณจังหวัดมุกดาหารในช่วงค่ำวันเดียวกัน และเคลื่อนผ่านภาคเหนือเข้าสู่ประเทศเมียนมาในช่วงวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากและมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เริ่มมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก่อน หลังจากนั้นภาคเหนือและภาคอื่นๆ จะมีผลกระทบในระยะต่อไป ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ และระวังอันตรายจากลมแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย
คาดว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ มีดังนี้
วันที่ 18 กันยายน 2563 บริเวณที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี สระบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 19 กันยายน 2563 บริเวณที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิจิตร และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์
ศรีสะเกษ และ อุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี
รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 20 กันยายน 2563 บริเวณที่มีฝนตกหนัก
ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย และกำแพงเพชร
ภาคกลาง: จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี และชัยนาท
ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนบน และทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร อ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 17-20 กันยายน 2563
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์ กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ประกาศ ณ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563 เวลา 05.00 น.
กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไป ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563 เวลา 11.00 น.
(ลงชื่อ) นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์
(สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์)
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากรมอุตุ
ขอบคุณ Army Spoke Team