- 20 ก.ย. 2563
หมู่เกาะอ่างทองรายงานลักษณะกลุ่มภูเขาหินปูนเพิ่มเติม หลังพบมีการถล่มกว้างประมาณ 15-20%
หมู่เกาะอ่างทองรายงานลักษณะกลุ่มภูเขาหินปูนเพิ่มเติม หลังพบมีการถล่มกว้างประมาณ 15-20% ด้านเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจความเสียหาย พร้อมเตือนชาวประมงรอบเขตห้ามเดินเรือใกล้พื้นที่เพื่อความปลอดภัย
20 ก.ย.63 นายปิยะ หนูนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เปิดเผยกรณีการพังทลายของเขาหินปูนและดินถล่มบริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะหินแตก ซึ่งมีการถล่มลงในทะเลเป็นบริเวณกว้างประมาณ 15-20 % ของพื้นที่เกาะ ว่า จากกรณีดังกล่าว ลักษณะธรณีสัณฐาน (Geomorphology) ของเกาะหินแตก รวมถึงลักษณะภูมิประเทศทั้งหมดของหมู่เกาะอ่างทอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของภูมิประเทศแบบคาสต์ (Karst topography) ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มภูเขาหินปูนที่เกิดรวมกันเป็นหมู่เกาะอยู่กลางทะเลอ่าวไทย
ชั้นหินจัดอยู่ในกลุ่มหินปูนยุคเพอร์เมียนตอนกลาง (Middle Permian) มีอายุประมาณ 260 ล้านปี เป็นเขาหินปูนที่มียอดเขาตะปุ่มตะป่ำ เพราะน้ำฝนและน้ำสามารถชะละลายเนื้อหินปูนออกไปได้ง่าย พื้นที่โดยทั่วไปจึงมีแนวโน้มที่จะประกอบไปด้วยหลุม บ่อ ถ้ำ และทางน้ำใต้ดินที่เป็นช่องทางนำพาเอาเนื้อหินปูนแทรกซึมหายไปเมื่อมีฝนตกในปริมาณที่มาก และไหลเข้าไปในรอยแยกรอยแตกเหล่านั้น ทำให้มวลหินสูญเสียเสถียรภาพ ประกอบกับน้ำหนักและแรงโน้มถ่วงของโลก จึงทำให้หินปูนเกิดการแตกเคลื่อนตัวและถล่มลงมา
สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวการดำเนินการของอุทยานแห่งชาติ เบื้องต้นได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสังเกตุการณ์เนื่องจากอาจมีการถล่มเพิ่มเติมได้ และจะดำเนินการสำรวจสภาพความเสียหายและขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนราษฎรและชาวประมงรอบแนวเขตอุทยานฯ ให้ระมัดระวังไม่ให้เดินเรือเข้าใกล้บริเวณพื้นที่ดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น