- 20 ก.ย. 2563
หินปูนกลางทะเล หมู่เกาะอ่างทอง อายุกว่า 260 ล้านปี พังถล่มหลังเผชิญพายุโนอึล
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รายงานสถานการณ์พายุใต้ฝุ่น โนอึล ถล่มพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี ตรวจพบการพังทลายของเขาหินปูนและดินถล่มบริเวณพื้นที่เกาะหินทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีการถล่มลงทะเลกว้างประมาณ 15-20% ของพื้นที่เกาะ สันนิษฐานว่าเกิดจากการเคลื่อนตัวของชั้นหินและชั้นดินที่ถูกกัดเซาะ จากสถานการณ์ฝนตกหนักและคลื่นลมแรงในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา
โดยนายปิยะ หนูนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เปิดเผยว่า ลักษณะธรณีสัณฐาน (Geomorphology) ของเกาะหินที่แตก รวมถึงลักษณะภูมิประเทศทั้งหมดของหมู่เกาะอ่างทอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของภูมิประเทศแบบคาสต์ (Karst topography) ประกอบด้วยกลุ่มภูเขาหินปูนที่เกิดรวมกันเป็นหมู่เกาะอยู่กลางทะเลอ่าวไทย
ทั้งนี้ ชั้นหินจัดอยู่ในกลุ่มหินปูนยุคเพอร์เมียนตอนกลาง (Middle Permian) มีอายุประมาณ 260 ล้านปี เป็นเขาหินปูนที่มียอดเขาตะปุ่มตะป่ำ เพราะน้ำฝนและน้ำสามารถชะละลายเนื้อหินปูนออกไปได้ง่าย พื้นที่ทั่วไปจึงมีแนวโน้มที่จะประกอบไปด้วยหลุม บ่อ ถ้ำ และทางน้ำใต้ดินที่เป็นช่องทางนำพาเอาเนื้อหินปูนแทรกซึมหายไปเมื่อมีฝนตกในปริมาณมาก และไหลเข้าไปในรอยแยกรอยแตกเหล่านั้น ทำให้มวลหินสูญเสียเสถียรภาพ ประกอบกับน้ำหนักและแรงโน้มถ่วงของโลก จึงทำให้หินปูนเกิดการแตกเคลื่อนตัวและถล่มลงมา
เบื้องต้นได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสังเกตการณ์เนื่องจากอาจมีการถล่มเพิ่มเติมได้ และดำเนินการสำรวจสภาพความเสียหายและขนาดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนและชาวประมงรอบแนวเขตอุทยานฯ ให้ระมัดระวังไม่ให้เดินเรือเข้าใกล้บริเวณพื้นที่ดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช