เจาะอาการ "วัณโรค" อีกหนึ่งภัยเงียบ ติดต่อผ่านลมหายใจ รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

เจาะอาการ "วัณโรค" อีกหนึ่งภัยเงียบ ติดต่อผ่านลมหายใจ รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

  หลายคนเข้าใจว่า "วัณโรค" ซึ่งเป็นโรคที่พบมานานกว่าครึ่งศตวรรษน่าจะหมดไปจากโลกนี้แล้ว หรือคงมีผู้ป่วยน้อยลงมาก แต่เชื่อหรือไม่ว่า จนถึงปัจจุบันก็ยังพบผู้ป่วยวัณโรคอยู่ในประเทศต่าง ๆ จำนวนกว่า 10 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขคาดว่ามีผู้ติดเชื้อประมาณ 20 ล้านคน ป่วยแล้ว 1.2 แสนคน เสียชีวิตปีละประมาณ 1.2 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้ป่วย 1.2 แสนคนนั้น มีผู้ป่วยเข้าระบบเพียง 8 หมื่นคนเท่านั้น

          เห็นแล้วต้องบอกว่าเป็นจำนวนไม่น้อยเลย ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาทในการใช้ชีวิต ลองมาศึกษาอาการวัณโรค ไว้สังเกตและป้องกันตัวเองกันหน่อย

วัณโรค สาเหตุเกิดจากอะไร
         
          วัณโรค หรือ TB (Tuberculosis) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มของ Mycobacterium spp. ชนิดที่พบบ่อยคือ Mycobacterium Tuberculosis ซึ่งเชื้อชนิดนี้จะทำให้เนื้อเยื่อของอวัยวะต่าง ๆ เกิดการอักเสบ หลัก ๆ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

          1. วัณโรคปอด (Pulmonary tuberculosis) ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดราวร้อยละ 80 เพราะเป็นจุดที่รับเชื้อมาก และเป็นอวัยวะที่มีออกซิเจนมาก

          2. วัณโรคนอกปอด (Extra Pulmonary TB) จะเกิดขึ้นกับอวัยวะอื่น ๆ ได้หลายส่วน เช่น วัณโรคเยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูก หลังโพรงจมูก ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ฯลฯ แต่จะพบได้น้อยกว่าวัณโรคปอด

          ทั้งนี้ จากสถิติของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 พบคนไทยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คนจากประชากร 69 ล้านคน โดยร้อยละ 83 จะตรวจพบที่ปอด และร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด

          อย่างไรก็ตาม เชื้อวัณโรคอาจอยู่ในร่างกายของเราอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันดี ร่างกายแข็งแรง ก็จะกดเชื้อนั้นไว้ไม่ให้แสดงอาการออกมา

วัณโรค ติดต่อกันได้อย่างไร

 

วัณโรคปอด

 

          สามารถติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอากาศ ลมหายใจ เช่น เมื่อผู้ป่วยวัณโรคไอ จาม พูดคุย ตะโกน หัวเราะ ร้องเพลง ฯลฯ ทำให้เกิดละอองฝอย (dropletnuclei) ฟุ้งกระจายออกมา ละอองฝอยที่มีขนาดใหญ่มากจะตกลงสู่พื้นดินและแห้งไป ส่วนละอองฝอยที่มีขนาดเล็กจะลอยและกระจายอยู่ในอากาศ ทำให้ผู้อื่นสูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าไป และหากในเสมหะของผู้ป่วยมีเชื้อวัณโรคอยู่ด้วยแล้ว จะยิ่งมีโอกาสแพร่กระจายได้สูงขึ้นมาก เพราะแม้แต่เสมหะแห้ง ๆ ถ้าไม่ถูกแดด เชื้อโรคก็ยังสามารถอยู่ในอากาศได้นานถึง 6 เดือน

 

          ทั้งนี้หากสูดเอาละอองเล็ก ๆ ของเชื้อวัณโรคเข้าไปในปอด ในคนที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรงอาจจะไม่แสดงอาการอะไร แต่ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้ออาจแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นในถุงลมปอด และสามารถขยายตัวลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง แพร่กระจายสู่อวัยวะต่าง ๆ ได้

 

          เมื่อติดเชื้อแล้วร่างกายไม่แข็งแรง อาจแสดงอาการป่วยเร็วที่สุดใน 2 ปี แต่บางคนอาจแสดงอาการช้าที่สุดถึง 10 ปี โดยช่วง 3 เดือนก่อนป่วยนั้นคือระยะแพร่เชื้อ

 

วัณโรคนอกปอด

 

          มักจะไม่มีการแพร่เชื้อ จึงมีโอกาสติดต่อกันได้น้อยกว่า ยกเว้นว่าผู้ป่วยมีวัณโรคปอดร่วมด้วย หรือเป็นบริเวณช่องปากที่สามารถแพร่เชื้อออกมาในอากาศได้


ใครเสี่ยงป่วยวัณโรค

 

          วัณโรคสามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย แต่จะมีคนบางกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนอื่น ๆ เช่น

 

          * ผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะมีภูมิคุ้มกันต่ำ จึงติดเชื้อวัณโรคได้ง่าย

          * ผู้ป่วยเบาหวาน
          * ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค
          * เด็กและผู้สูงอายุ
          * ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่แออัด
          * ผู้ที่ดื่มสุรามาก ๆ สูบบุหรี่ หรือติดยาเสพติด
          * ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือยาสเตียรอยด์ชนิดต่าง ๆ
          * ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการผ่าตัด ซึ่งจะอยู่ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ
          * ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเข้ารับเคมีบำบัด
          * ผู้เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ

 

เจาะอาการ "วัณโรค" อีกหนึ่งภัยเงียบ ติดต่อผ่านลมหายใจ รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

วัณโรค อาการแบบไหนที่บอกว่าป่วย

วัณโรคปอด

 

          จะแสดงอาการออกเป็น 2 ระยะ คือ

 

          * ระยะแฝง (Latent TB Infection : LTBI)

 

          เป็นระยะที่มีเชื้อแบคทีเรียอยู่ในร่างกาย แต่ไม่แสดงใด ๆ ให้เห็นว่าป่วย และไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น แต่เป็นเสมือนแหล่งเพาะเชื้อเตรียมพร้อมสำหรับแพร่กระจาย ต้องตรวจร่างกายจึงจะพบว่ามีเชื้อแฝงอยู่ ดังนั้นจึงไม่จัดว่าเป็นผู้ป่วยวัณโรค แต่หากภูมิคุ้มกันต่ำลง จะกลายเป็นวัณโรคได้ต่อไป

 

          ทั้งนี้ คาดว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงมากถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลก ขณะที่ในประเทศไทย มีประชากรไทย 20 ล้านคน ติดเชื้อแล้วอยู่ในระยะแฝง อย่างไรก็ตาม พบว่ามีเพียงประมาณ 5-10% ของผู้ป่วยระยะแฝงเท่านั้นที่จะกลายเป็นผู้ป่วยวัณโรคในระยะแสดงอาการ


          * ระยะแสดงอาการ เป็นระยะที่เริ่มแสดงอาการต่าง ๆ ให้เห็นและแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ เช่น

 

          - ไอเรื้อรังติดต่อกัน 2 สัปดาห์ขึ้นไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

          - มีไข้ต่ำ ๆ ช่วงบ่ายหรือเย็น
          - เหงื่อออกตอนกลางคืน
          - เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
          - อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
          - เจ็บหน้าอก
          - ไอมีเสมหะปนเลือด
          - มีอาการบวมที่คอ ใต้แขน หรือขาหนีบ
 
          อย่างไรก็ตาม ในบางคนอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย และไม่ได้มีอาการทุกข้อ แต่หากต้องสงสัยว่าป่วยวัณโรคปอดควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
 

วัณโรคนอกปอด

 

          คือเชื้อวัณโรคที่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย มีอยู่ด้วยกันหลายโรค เช่น


          * วัณโรคหลังโพรงจมูก พบได้น้อยกว่าร้อยละ 1 ของวัณโรคที่พบนอกปอด ผู้ป่วย 1 ใน 3 มักไม่แสดงอาการป่วยใด ๆ และประมาณร้อยละ 70 มีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตหรือมีก้อนบริเวณหลังโพรงจมูก การวินิจฉัยวัณโรคหลังโพรงจมูกจึงมักได้จากการตรวจชิ้นเนื้อที่ก้อนหรือต่อมน้ำเหลือง
 

          * วัณโรคกระดูก หรือวัณโรคกระดูกสันหลัง หากเชื้อเข้าไปทำลายกระดูก จะทำให้กระดูกยุบตัว หลังโก่งงอ มีหนองหรือเศษกระดูก หมอนรองกระดูกเลื่อน และเมื่อเข้าสู่ช่องไขสันหลังจะเกิดการกดทับประสาทที่ไขสันหลัง จนทำให้เป็นอัมพาตที่ขาได้ 

 

          * วัณโรคต่อมน้ำเหลือง  มีอาการต่อมน้ำเหลืองโต พบก้อนที่คอ อาจร่วมกับไข้เรื้อรัง หากก้อนโตมากจนเกิดแผลและแผลแตกออกจะกลายเป็นหนองได้ เมื่อเป็นแล้ว แผลจะหายช้าแม้จะได้รับการรักษาแล้ว ทั้งนี้ วัณโรคต่อมน้ำเหลืองสามารถลุกลามไปตามต่อมน้ำเหลืองบริเวณต่าง ๆ ของร่างกายได้ด้วย และระหว่างการรักษาวัณโรคต่อมน้ำเหลืองอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองต่อมใหม่โตขึ้นมา หรืออาจยังมีรอยโรคอยู่หลังรักษาครบแล้ว


          * วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง เป็นวัณโรคที่มีอาการรุนแรง อาการแสดงคือ มีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักลง อาจมีอาการคอแข็งหรือไม่ก็ได้ ระดับความรู้สึกตัวลดลง ปวดศีรษะ การวินิจฉัยทำได้โดยการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง
 

          * วัณโรคช่องท้อง เป็นวัณโรคที่เกิดในบริเวณช่องท้อง เช่น วัณโรคตับ ลำไส้ เยื่อบุช่องท้อง ฯลฯ มีอาการท้องโต พบน้ำในช่องท้อง มักคลำพบก้อนในช่องท้องซึ่งต้องตรวจจึงจะทราบว่าป่วย และหากมีภาวะแทรกซ้อน เช่น การแตกของลำไส้สามารถทำให้เสียชีวิตได้

 

วัณโรคปอด รักษาหายไหม

 

          สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการทานยา ซึ่งต้องใช้เวลารักษาประมาณ 6-8 เดือน โดยระยะแรกของการรักษา ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้แพร่กระจาย หากมีอาการดีขึ้นแล้วแพทย์จึงอนุญาตให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้ แต่สิ่งสำคัญคือผู้ป่วยต้องทานยาทุกขนานอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัดทุกวัน แม้อาการจะเริ่มดีขึ้นแล้วก็อย่าหยุดยาเด็ดขาด เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อวัณโรคดื้อยาซึ่งจะทำให้การรักษายากลำบากมากขึ้น


          นอกจากนี้ ยังต้องคอยสังเกตอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่เกิดกับร่างกายด้วย เพราะอาจเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ขึ้นได้ในระหว่างป่วยวัณโรค เช่น ภาวะน้ำในช่องหุ้มปอด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ฯลฯ

วัณโรค ป่วยแล้วมีโอกาสเสียชีวิตไหม ?

 

          หากเป็นวัณโรคในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หรือมีโรคแทรกซ้อนที่อันตราย มีภาวะอากาศรั่วเข้าช่องเยื่อหุ้มปอด หรือเชื้อวัณโรคกระจายเข้าสู่กระแสเลือด อาจเสียชีวิตได้ รวมทั้งหากเชื้อวัณโรคดื้อยา แพทย์ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นซึ่งอาจแรงกว่า หรือให้ผลการรักษาได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์

 

เชื้อวัณโรคดื้อยา คืออะไร

หากยารักษาวัณโรคไม่สามารถฆ่าเชื้อวัณโรคได้ จะทำให้เชื้อเหล่านั้นกลายเป็นแบคทีเรียดื้อยา และเรียกวัณโรคที่เกิดจากแบคทีเรียเหล่านี้ว่า วัณโรคดื้อยา ซึ่งอาจเกิดจากผู้ป่วยทานยาไม่ต่อเนื่อง ไม่ครบถ้วน หรือยาที่ใช้รักษาหลายชนิดผสมกันอย่างไม่ถูกต้อง หรือยาไม่แรงพอที่จะกำจัดแบคทีเรียได้ทั้งหมด

          หากมีอาการวัณโรคดื้่อยาแล้วจะรักษาให้หายได้ยากกว่าเดิม เพราะแพทย์จะต้องเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นแทน และอาจต้องใช้เวลารักษานานเป็นปีกว่าจะทำลายเชื้อแบคทีเรียได้หมด นอกจากนี้ยาที่ใช้รักษาวัณโรคดื้อยายังมีผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อร่างกายด้วย
 

วิธีป้องกันก่อนป่วยวัณโรค

 

          - ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
          - ออกกำลังกายเป็นประจำ
          - เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
          - ใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก เมื่อไอจาม
          - หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี รวมทั้งเอกซเรย์ปอดปีละครั้ง
          - หากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอเรื้อรัง น้ำหนักลด เบื่ออาหาร คลำพบก้อนผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
          - ไม่ควรอยู่ใกล้กับผู้ป่วยวัณโรคเป็นเวลานาน หากอยู่ร่วมบ้านเดียวกันควรแยกข้าวของเครื่องใช้ ไม่ใช้รวมกัน
          - ไม่ใช้ยาเสพติด
          - ไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV เช่น มีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน ไม่สวมถุงยางอนามัย
          - หลีกเลี่ยงการเข้าไปในชุมชนแออัด โดยเฉพาะช่วงที่ตัวเองป่วย
          - การฉีดวัคซีน BCG ช่วยป้องกันวัณโรคในเด็กได้

เจาะอาการ "วัณโรค" อีกหนึ่งภัยเงียบ ติดต่อผ่านลมหายใจ รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2562

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

KAPOOK,สำนักวัณโรค, กรมควบคุมโรค, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, รามา แชนเนล, ThaiPBS, องค์กรผู้ป่วยโรคหัวใจและปอดแห่งนอร์เวย์