- 12 ต.ค. 2563
เจาะลึกอาการ "บาดทะยัก" ตะปูตำ เหยียบไม้แหลม มีดบาด ถ้านิ่งนอนใจอันตรายถึงชีวิต
“บาดทะยัก” เมื่อพูดถึงชื่อนี้แล้วก็คงจะคุ้นหูกันดี ซึ่งหลายๆ คนมีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อนี้เข้าสู่ร่างกาย แต่ทว่าบางคนก็อาจจะละเลย ไม่ได้สนใจมาก เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่ว่าขึ้นก็คงแค่ล้างแผลพอ บางคนไม่ได้ไปพบแพทย์ด้วยซ้ำ ซึ่งจริง ๆ แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าเชื้อบาดทะยักอันตรายกว่าที่คิดอย่างมากจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ด้วยความห่วงใยจากผศ. นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ จึงได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับโรคบาดทะยัก เพื่อสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น
บาดทะยักอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต?
จริง ๆ แล้วโอกาสเสี่ยงเกิดโรคบาดทะยักมาจากอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ได้ เช่น ถูกไฟไหม้ ถูกน้ำแข็งกัด ตะปูเป็นสนิมตำเท้า หรือแค่เดินเหยียบไม้แหลม มีดบาด ฯลฯ ซึ่งเชื้อบาดทะยักสามารถทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากลักษณะอาการเกร็งของกล้ามเนื้อไปทั่วร่างกาย อาจทำให้มีปัญหาทางด้านการหายใจ ซึ่งนอกจากการเกร็งของกล้ามเนื้อแล้ว โรคนี้ยังทำให้มีเรื่องของการกระตุ้นที่มากเกินไป เช่น มีไข้สูง ความดันสูง หัวใจเต้นเร็ว พูดง่าย ๆ ว่าบาดทะยักทำให้ร่างกายกล้ามเนื้อเกร็งก็ยังถูกกระตุ้นอื่น ๆ เยอะเพิ่มไปอีก จึงเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ
แล้วถ้าเราช่วยเหลือผู้สูงอายุถึงมือแพทย์โดยเร็วมีโอกาสรอดหรือไม่?
โดยส่วนใหญ่แล้วเวลาที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลแล้วแพทย์รู้ทันทีว่าเป็นบาดทะยักการรรักษาจะให้ภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายไปเพื่อยับยั้งแบคทีเรีย (แอนตี้ท็อกซิล) รวมถึงให้ยาประคับประคองอาการ เช่น กรณีกล้ามเนื้อเกร็งมากก็จะให้ยาคลายกล้ามเนื้อ กรณีร่างกายร้อนมากก็จะให้ยาลดไข้ กรณีร่างกายกระตุกมากก็ให้ยากันกระตุก จึงมีโอกาสรอดได้นั่นเอง
ฉีดวัคซีนแต่เด็กช่วยได้หรือไม่?
ถือเป็นโชคดีคนไทยอย่างมากที่เราทุกๆ คนมีโอกาสได้วัคซีนแต่เด็กอยู่แล้ว ตั้งแต่อายุ 2 – 6 เดือน อายุ 4 – 6 ปี ซึ่งเป็นวัคซีนฟรีจากกระทรวงสาธารณสุข ก็จะทำให้ร่างกายรู้จักเชื้อบาดทะยัก เมื่อร่างกายได้รับเชื้อก็จะมีภูมิคุ้มกันมาจัดการได้ แต่ทั้งนี้ การห่างหายจากการฉีดวัคซีนไปเมื่อมีอายุมากขึ้น แน่นอนว่าภูมิคุ้มกันก็จะลดลงจนหายไปในที่สุด
ทำไมผู้สูงอายุถึงมีอาการรุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่น?
จากผลการวิจัยจะพบว่าผู้สูงอายุถูกพบว่าเป็นโรคบาดทะยักง่าย และมักมีอาการจะรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากสภาพร่างกายที่ถดถอย เมื่อเกิดอาการเกร็ง หรืออาการชักจึงมีความรุนแรงกว่า หรือผู้สูงอายุบางคนได้รับการฉีดวัคซีนมาแล้วแต่ 10 – 20 ปีให้หลังมาอย่างที่บอกภูมิคุ้มกันก็ลดลงได้ ประกอบกับเป็นวัยที่ร่างกายอ่อนแอด้วยเมื่อเป็นโรคร่างกายก็สู้ไม่ไหว
กรณีเป็นบาดทะยักที่นิ้วจะถูกตัดทิ้ง?
เวลาที่แพทย์ดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องรักษาเพื่อให้พิษบาดทะยักออกจากร่างกายโดยเร็ว อันดับแรกจะเน้นที่การล้างแผล แต่ถ้าเป็นแผลที่มีเนื้อตายก็ควรตัดทิ้ง เพราะเนื้อที่ตายนี้อาจเป็นส่วนเพาะเชื้อแบคทีเรียให้เกิดบาดทะยักซ้ำอีกครั้ง กรณีที่แผลใหญ่จริง ๆ เช่น แผลโดนระเบิด แผลไฟไหม้ แผลน้ำแข็งกัด การตัดพิษทิ้งไปเลยก็อาจจะช่วยได้ดีกว่าปล่อยไว้
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็หวังว่าทุกๆ คน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุจะเข้าใจ และระมัดระวังตนเองจากการได้รับเชื้อบาดทะยัก เพื่อความปลอดภัยของร่างกาย
CR.RAMA CHANNEL