- 01 พ.ย. 2563
ครูตีแผ่ชีวิตชนบท ไม่เหมือนโฆษณา ถนนเป็นหลุม ถูกหมากัดไปหาหมอไม่ได้ ลั่น หรือคนจนไม่สมควรมีชีวิตที่ดี
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 เฟซบุ๊ก วันนั้นเมื่อฉันสอน ของคุณครูท่านหนึ่ง ได้ตีแผ่ชีวิตในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ชีวิตชนบท ที่ไม่ได้สวยงามเหมือนอย่างในโฆษณา ใครบอกว่าเรียบง่าย มีความสุขสบาย อยากให้ลองมาใช้ชีวิตในชนบทที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวดูสักครั้ง อยากให้มาสัมผัสชีวิตที่ไม่มีร้านข้าว ไม่มีเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ
คุณครูรายดังกล่าว เล่าว่า การไม่มีระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้เด็ก ๆ ต้องหัดขี่มอเตอร์ไซค์กันตั้งแต่ชั้น ป.5 เพื่อไปโรงเรียน ทั้งที่ไม่มีใบขับขี่ ต้องเอาชีวิตไปเสี่ยง แถมทำผิดกฎหมาย หลายบ้านต้องเอาซาเล้งพ่วงข้าง เพื่อทำเป็นรถโดยสารรับส่งไว้ขนคนแก่และลูกหลานยามเจ็บไข้ได้ป่วย อีกทั้งถนนหนทางก็ยิ่งแย่ เป็นหลุมเป็นบ่อต่าง ๆ ทำให้คนเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล
ซึ่งก็เกี่ยวเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ตัวอย่างเช่น เมื่อถนนหนทางไม่เป็นใจ เด็กบางคนถูกหมากัด ก็ไปฉีดยาไม่ได้ เพราะสถานพยาบาลอยู่ห่างจากบ้านไปไกลถึง 20 กิโลเมตร ไม่มีขนส่งใด ๆ ผ่าน แม้จะฉีดยาฟรี แต่ราคาของการไปรับการรักษานั้นแสนแพง การเดินทางไปสถานพยาบาลมีวิธีเดียวคือการเหมารถ และค่ารถนั้นครั้งละ 500 บาท
คุณครู เล่าต่อว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าว พวกเขาจะไปหามาจากไหน ดังนั้นเมื่อเจ็บป่วยก็ต้องลุ้นว่ามันจะหายเอง จึงง่ายกว่าการเดินทางไปรักษา เกิดเป็นคนจนก็ต้องเสี่ยงหน่อย ถ้ารอด ก็มีชีวิตอยู่ต่อ ถ้าพลาดก็ตาย เมื่อเป็นคนจน ก็ไม่มีสิทธิ์ป่วย เพราะถ้าป่วยก็เท่ากับถูกปล่อยให้ตาย
หากมีเรื่องราวคดีความ จะไปแจ้งตำรวจ สถานีตำรวจก็ไกล เรื่องเล็กน้อยต้องปล่อยผ่าน ทุกอย่างอยู่ตามมีตามเกิด ด้วยเหตุนี้แต่ละบ้านจึงต้องทำงานหาเงินเพื่อออกมอเตอร์ไซค์ เพราะไม่อย่างนั้นไปไหนไม่ได้ เงินที่ควรจะได้เอาไปพัฒนาคุณภาพชีวิตส่วนอื่นก็ต้องมาหมดไปกับการขนส่งและการซ่อมบำรุงรถที่เกิดจากถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อ
เมื่อมาถึงเรื่องถนน ก็จะพบว่าถนนในชนบทนั้นไม่มีไฟส่องสว่าง ถนนหนทางมืดสนิท ผู้หญิงอย่าหวังจะกล้าขับ หน้าฝนถนนมีโคลนตมสาดเต็มกระจกหน้า ขับรถสวนกันก็ต้องหยุดให้รถเล็กไปก่อนเพราะน้ำจะกระเซ็นใส่ เมื่อเข้าหน้าร้อน-หน้าหนาวฝุ่นบนถนนก็คละคลุ้งจนมองไม่เห็นทาง รถมอเตอร์ไซค์ที่ขับตามหลังรถใหญ่ไปต่อไม่ได้ ฝุ่นเข้าตาและต้องสูดไปเต็มปอด
คุณครูท่านนี้ ได้ยกตัวอย่างถนนที่เป็นเส้นทางเชื่อมต่อโรงเรียน 3 แห่ง ระบุว่าพังแล้วพังอีกเป็นปี ๆ โดยไม่มีการซ่อมแซมจากทางการ เมื่อถนนเป็นแบบนี้ ใครจะอยากส่งลูกมาเรียนโรงเรียนที่ถนนพัง ๆ ทำไมการมีถนนดี ๆ ใช้งานจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับเรา ผิดเหรอที่คนบ้านนอกอย่างเราอยากมีชีวิตที่ขึ้น ผิดเหรอที่บ้านเราอยู่ตรงนี้ ทำไมมันจึงต้องเป็นการรออย่างไม่มีจุดหมาย หรือเราไม่สมควรได้รับมัน ไม่สมควรได้มีชีวิตที่ดี
ขอบคุณเรื่องราวจาก วันนั้นเมื่อฉันสอน