- 17 พ.ย. 2563
ยานอวกาศจูโน ตรวจพบปรากฏการณ์หายากในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี
วันนี้ ( 17 พฤศจิกายน 2563 ) ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า #ยานอวกาศจูโน ตรวจพบปรากฏการณ์หายากในชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดี ยานอวกาศจูโนขององค์การนาซา ตรวจพบรังสีอัลตราไวโอเลตสว่างวาบในบรรยากาศชั้นบนของดาวพฤหัสบดี คาดว่าคล้ายการเกิด "สไปรต์" (Sprites) และ "เอล์ฟ" (Elves) ในชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หาดูยาก มักเกิดในบรรยากาศชั้นบนเหนือเมฆพายุฝนฟ้าคะนอง จากการประชุมของฝ่ายวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ของสมาคมดาราศาสตร์สหรัฐฯ (Division of Planetary Sciences / DPS) เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา มีรายงานว่าข้อมูลที่บันทึกโดยยานอวกาศจูโน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ถึงเดือนกรกฏาคม พ.ศ. 2563 ตรวจพบแสงสว่างวาบบนดาวพฤหัสบดีในลักษณะนี้ถึง 11 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม แสงสว่างวาบที่เกิดขึ้นบนดาวพฤหัสบดีเป็นรังสีอัลตราไวโอเลตซึ่งไม่สามารถทะลุเมฆแอมโมเนียที่หนาแน่นบนดาวพฤหัสบดีได้ จึงมีความเป็นไปได้ว่าแสงสว่างวาบดังกล่าวเกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นบน คาดว่าเกิดขึ้นที่ระดับความสูงประมาณ 260 กิโลเมตรเหนือชั้นบรรยากาศระดับที่มีความดันบรรยากาศ 1 บาร์ แสงสว่างวาบดังกล่าวเกิดขึ้นเหนือบริเวณที่มีความปั่นป่วนของชั้นบรรยากาศหรือพายุฝนฟ้าคะนอง แต่ละครั้งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่มิลลิวินาที และหากพิจารณาขนา ที่ปรากฏในภาพจากยานอวกาศจูโน จะเห็นเป็นเพียงจุดแสง ซึ่งหมายความว่าแหล่งกำเนิดแสงดังกล่าวมีขนาดความกว้างไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร นักวิทยาศาสตร์คาดว่าแสงสว่างวาบดังกล่าว คล้ายกับปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศโลกรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกรวม ๆ ว่า เหตุการณ์แสงสว่างแบบชั่วคราว (Transient Luminous Events, TLEs)
ซึ่งมีการสังเกตการณ์โดยบังเอิญเหนือเมฆฝนฟ้าคะนองมานานหลายทศวรรษ แต่เพิ่งมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายภาพแรกไม่นานนัก เมื่อวันที่ 6 กรกฏาคม พ.ศ. 2532 โดยทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นบนดาวพฤหัสบดีสว่างเด่นในช่วงคลื่นรังสีอัลตราไวโอเลต เนื่องจากโมเลกุลที่ถูกกระตุ้นและปลดปล่อยพลังงานออกมานั้นเป็นโมเลกุลของแก๊สไฮโดรเจน (H2) แตกต่างกับการปล่อยพลังงานของโมเลกุลของแก๊สไนโตรเจน (N2) ที่อยู่บนโลก
อ้างอิง :
[1] https://skyandtelescope.org/.../juno-discovers-sprites.../
[2] https://cloudatlas.wmo.int/.../lightning-transient...
เรียบเรียง : ธนกฤต สันติคุณาภรต์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.
ที่มา NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
>> Lazada ช้อปดีลเด็ดลดต่อเนื่องจาก 11.11 แจกส่วนลด 150฿ คลิกเลย <<