- 12 ม.ค. 2564
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
เมื่อวันที่ 12 ม.ค.64 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ แถลงข่าวมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง
โดยโครงการที่ประชาชนให้ความสนใจ อย่าง เราชนะ ที่จะได้รับเงินเยียวยาคนละ 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน ทั้งนี้ข้อสรุปที่ชัดเจน จะต้องรอการผ่านอนุมัติจากครม. ในสัปดาห์หน้าวันที่ 19 ม.ค.นี้ สำหรับในเบื้องต้นนั้น ผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ในโครงการนี้คือ ผู้ที่เป็นเกษตรกร ครอบคลุมอาชีพอิสระ เเรงงานนอกระบบ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ(เข้าร่วมเเบบอัตโนมัติ) ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 คาดว่าจะเริ่มใช้ได้อย่างเร็วที่สุด ปลายมกราคม หรือต้นเดือนก.พ.นี้
สำหรับผู้ที่จะไม่ได้สิทธิรับเงินเยียวยาโควิด-19ระลอกใหม่ ในโครงการเราชนะ คือ
-ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม จำนวน 11 ล้านคน (ประกันสังคมตามมาตรา 33) ยกเว้นผู้ที่อยู่ในมาตรการ 39 และมาตรา 40
-ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐและพนักงานของรัฐวิสาหกิจ
-ผู้ที่มีรายได้สูง (อาจจะประเมินจากฐานเงินเดือนและบัญชีเงินฝาก)
-ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
สรุป 6 มาตรการเร่งด่วนเยียวยาโควิด-19ระลอกใหม่ของทางรัฐบาล..
1.มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สำหรับประชาชนทั่วไป
1.1 มาตรการช่วยเหลือค่าใช้น้ำประปา ลดร้อยละ 10 กำหนดระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปา
ประจำเดือน ก.พ. และ มี.ค. 2564 (ประเภทที่อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก 6.76 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงิน 395 ล้านบาท)
1.2 มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า กำหนดระยะเวลา 2 เดือน สำหรับใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้าประจำเดือน ก.พ. และ มี.ค. 2564
แนวทางการดำเนินงาน กลุ่มใช้น้อยกว่า 150 หน่วย ฟรี 90 หน่วยแรกทุกราย จำนวน 10.13 ล้านราย มูลค่า 3,650 ล้านบาท
-กลุ่มใช้เกิน 150 หน่วย ปรับขั้นส่วนลดใหม่ จำนวน 11.83 ล้านราย มูลค่า 3,752 ล้านบาท
-กิจการขนาดเล็ก ฟรี 50 หน่วยแรกทุกราย จำนวน 1.74 ล้านราย มูลค่า 800 ล้านบาท
1.3 มาตรการช่วยเหลือค่าอินเทอร์เน็ต มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ประสานขอความร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายระบบโทรคมนาคมในการพิจารณากำหนดมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ตของครัวเรือน
2.มาตรการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรคโควิด-19 ให้กระทรวงพาณิชย์ประสานกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3. มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้โรงงานของตัวเองเป็นสถานที่ในการกักตัวในพื้นที่โรงงงาน (Factory quarantine) กระทรงมหาดไทยโดยผู้ว่าราชการจังหวัดในแต่ละละพื้นที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ
4. การปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการเราเที่ยวด้วยกัน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการเพื่อช่วยลดผลกระทบให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการที่ประสบปัญหาและมีข้อจำกัดของการเดินทางในช่วงที่ยังมีการดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่
5. มาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ กระทรวงการคลังประสานธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อหารือและพิจารณาเตรียมมาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม
6. มาตรการช่วยเหลือด้านแรงงาน ให้กระทรวงแรงงานติดตามและเร่งรัดดำเนินโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่รวมทั้งพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด