- 16 ม.ค. 2564
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า วันที่ 15 ม.ค.2564 BTS ได้หารือกับกรุงเทพมหานครเพื่อกำหนดค่าโดยสารอัตราใหม่ช่วงต่อขยายที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.พ.2564 เป็นต้นไปและจะใช้เป็นการชั่วคราว
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า วันที่ 15 ม.ค.2564 BTS ได้หารือกับกรุงเทพมหานครเพื่อกำหนดค่าโดยสารอัตราใหม่ช่วงต่อขยายที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ก.พ.2564 เป็นต้นไปและจะใช้เป็นการชั่วคราว
การปรับค่าโดยสารใหม่จะแบ่งเป็น 4 ช่วง รวมแล้วผู้โดยสารที่นั่งตลอดสายจะเสียค่าโดยสารไม่เกิน 104 บาท เพราะไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าในช่วงที่รถไฟฟ้าวิ่งจากส่วนต่อขยายเข้าช่วงที่เป็นสัมปทานของ BTS โดยแบ่งได้ดังนี้
1.ช่วงสัมปทานของบีทีเอส (หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาฯ-สะพานตากสิน) ค่าโดยสาร 16-44 บาท
2.ส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต ค่าโดยสาร 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้นสถานีละ 3 บาท)
3.ส่วนต่อขยายอ่อนนุช-เคหะสมุทรปราการ 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้นสถานีละ 3 บาท)
4.ส่วนต่อขยายสะพานตากสิน-บางหว้า 15-33 บาท (ปรับเพิ่มขึ้นสถานีละ 3 บาท)
สำหรับการเจรจาครั้งนี้ตกลงกันที่จะไม่เก็บค่าแรกเข้าเพราะถ้าเก็บค่าแรกเข้าจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวตลอดสายอยู่ที่ 134 บาท ซึ่งกรุงเทพมหานครและ BTS มีความเห็นร่วมกันที่จะช่วยประชาชนในเรื่องนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
"ค่าโดยสาร 104 บาท ยังถือว่าแพงสำหรับประชาชนในช่วงนี้ แต่ตอนนี้ยังทำอะไรไม่ได้เพราะยังไม่มีการอนุมัติต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งจะมีการคำนวณราคาเป็นไม่เกิน 65 บาท"
นอกจากนี้ BTS ได้ชี้แจงกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงการค้างชำระค่าเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่มีวงเงินเกือบ 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนราคาค่าโดยสารใหม่จะต้องใช้เวลาในการปรับระบบตั๋ว 3-4 วัน รวมทั้งที่ผ่านมาเมื่อเปลี่ยนค่าโดยสารบีทีเอสจะใช้เวลาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้า 30 วัน ตามข้อกำหนดของสัมปทาน และครั้งนี้เมื่อได้ข้อสรุปค่าโดยสารชั่วคราวก็จะใช้เวลาประมาณ 30 วัน ประชาสัมพันธ์เช่นกัน