- 20 ม.ค. 2564
มาดามเดียร์ เสนอปรับหลักเกณฑ์สินเชื่อซอฟต์โลนเพิ่มให้SMEเข้าถึง
พ.ร.ก. สินเชื่อ ซอฟท์โลน 500,000 ล้านบาทที่สภาอนุมัติไปเพื่อช่วยเอสเอ็มอีเมื่อตอนเกิดโควิด 19 รอบแรก ครั้งนั้นเดียร์เองก็ได้มีโอกาสอภิปรายถึงปัญหาของเงื่อนไขที่ ธปท. ออกเงื่อนไขใน พ.ร.ก. ที่มีแนวโน้มไม่สามารถปฏิบัติได้จริง แต่ด้วยความเร่งด่วนของ ธปท. ที่ต้องแก้ปัญหาจากการแพร่ระบาดโควิดที่วันนั้นเราไม่ทันตั้งตัว และไม่เคยมีประสบการณ์จึงเข้าใจได้ถึงข้อจำกัดที่เกิดขึ้น ซึ่งวันนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าจากวงเงินสินเชื่อ 500,000 ล้านบาทนั้นถูกนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยได้เพียง 123,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 24.6% เท่านั้นซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
ดังนั้นในวันนี้ที่เราเห็นถึงข้อจำกัดของผู้ประกอบการ SME ในการเข้าถึงสินเชื่อโครงการ จึงอยากเสนอให้ ธปท. และ กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนมาตรการต่างๆ
1. ให้ยืดหยุ่นเพดานดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์นำมาปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการจากเดิมที่กำหนดไว้ 2% เพื่อสร้างแรงจูงใจที่เพียงพอให้ธนาคารพาณิชย์นำสินเชื่อจากโครงการมาปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการ
2. ใน พ.ร.ก. ฉบับเดิมมาตรา 10 ที่กำหนดให้สถาบันการเงินชำระคืนเงินกู้ให้ ธปท. พร้อมดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ได้รับเงินภายใน 2 ปี อาจเป็นระยะเวลาที่กระชั้นชิดเกินไม่สะท้อนความจริง ดังนั้นระยะเวลาที่ธนาคารพาณิชย์ต้องชำระคืนเงินกู้ให้ ธปท. ควรขยายระยะเวลาออกไปเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
3. ให้พิจารณาการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆใหม่ให้สอดคล้องตามความจำเป็นจากเดิมที่ ธปท. มีคำสั่งให้งดเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมทุกประเภท
4. ยกเลิกวงเงินที่ให้กู้ยืมจากเดิมที่กำหนดวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20% ของมูลหนี้ที่ผู้ประกอบการมีอยู่กับธนาคารพาณิชย์ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เพราะการกำหนดวงเงินกู้ดังกล่าวเป็นอุปสรรคทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถได้จำนวนเงินที่เพียงพอเพื่อมาพยุงธุรกิจของตนเอง
5. นอกจากนี้อีก 1 สาระสำคัญใน พรก. สินเชื่อซอฟท์โลน 500,000 ล้านบาทนั้นคือ มาตรการชะลอการชำระหนี้ ที่วันนี้ผู้ประกอบการต่างเรียกร้องให้ทบทวนถึงการพักชำระหนี้อย่างแท้จริง คือขอให้มีการพักชำระหนี้เดิมและระงับการคำนวณดอกเบี้ยในระหว่างที่พักชำระหนี้
อย่างไรก็ตามการปรับปรุง พ.ร.ก. นั้นก็เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเบื้องต้นเพื่อช่วยให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น แต่ในความเป็นจริงคนที่เดือดร้อนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบตั้งแต่แรกเสียด้วยซ้ำ หรือหลายรายที่ธุรกิจเริ่มประสบปัญหาจากพิษไวรัสโควิด19 ในวันนี้ก็ไม่อยู่ในความสามารถที่จะกู้ธนาคารเพิ่ม และธนาคารเองก็ต่างรัดเข็มขัดในการปล่อยสินเชื่อในวันนี้สิ่งสำคัญที่สุดที่ภาครัฐจะต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อเยียวยา คือการหามาตรการ รุปแบบเครื่องมือทางการเงินทุกวิถีทาง เช่นการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้าเงื่อนไขการขอสินเชื่อจากธนาคาร เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เดือดร้อนได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SME ที่วันนี้เปรียบเสมือนรากฐานเศรษฐกิจของประเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการกว่า 5 ล้านราย ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 14 ล้านคน เพื่อที่สุดท้ายแล้วเราทุกคนจะชนะไปด้วยกัน