ขสมก.พบกระเป๋ารถเมล์สาย A3 ติดโควิด พร้อมแจงไทม์ไลน์อย่างละเอียด

ขสมก.พบกระเป๋ารถเมล์สาย A3 ติดโควิด พร้อมแจงไทม์ไลน์อย่างละเอียด

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานว่าคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)ได้ออกประกาศโดยแจ้งว่า พบกระเป๋ารถเมล์ติดเชื้อโควิด-19 ระบุ ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)  ที่ผ่านมาองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กระทรวงคมนาคม  ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติการป้องกันของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด 

 


แต่ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพขออภัยที่ต้องแจ้งให้ทราบว่า เนื่องจากเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ได้นำรถพระราชทานเข้ามาตรวจเชิงรุก เพื่อหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ให้กับพนักงานองค์การ จำนวน 600 คน ณ อู่รังสิต เขตการเดินรถที่ 1 ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ได้แจ้งให้เขตการเดินรถที่ 1 ทราบว่า ตรวจพบพนักงานเก็บค่าโดยสาร รถปรับอากาศ สาย A3 (ปฏิบัติหน้าที่เก็บค่าโดยสารช่วงกะบ่าย) เพศหญิง จำนวน 1 คน ซึ่งมีที่พักอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านกฤษณา 1 ตำบลบางปรอก อำเภอเมืองฯ จังหวัดปทุมธานี ติดเชื้อโรคดังกล่าว จึงให้พนักงานรออยู่ที่บ้าน เพื่อให้รถพยาบาลนำไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 16.30 น. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้รับทราบข้อมูลดังกล่าว จากผู้อำนวยการเขตการเดินรถที่ 1 จึงได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (COVID - 19) ดังต่อไปนี้

1. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้มีการแจ้งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งรายละเอียดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) (ตามแนวทางปฏิบัติกรณีพบผู้ติดเชื้อฯ) โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดปทุมธานี  


2. พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) อย่างเคร่งครัด  โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้ง มีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ก่อนปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้ง ซึ่งอุณหภูมิร่างกายของพนักงาน ตั้งแต่วันที่ 11 – 18 กุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 36.5 องศาเซลเซียส โดยไทม์ไลน์ ของพนักงานสรุปได้ ดังนี้


วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารธรรมดา สาย 95 ก หมายเลข 1 – 50119 ตั้งแต่เวลา 13.30 – 16.30 น. หลังเลิกงานได้ไปที่ตลาดพรพัฒน์ และกลับที่พักอาศัย 

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย 510 หมายเลข 1 – 70257 ตั้งแต่เวลา 13.15 – 20.35 น. หลังเลิกงานได้ไปที่ตลาดพรพัฒน์ และกลับที่พักอาศัย  

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย A3 หมายเลข 1 – 70305 ตั้งแต่เวลา 13.40 – 21.55 น. หลังเลิกงานได้ไปที่ตลาดพรพัฒน์ และกลับที่พักอาศัย  

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย A3 หมายเลข 1 – 70305 ตั้งแต่เวลา 14.20 – 22.40 น. หลังเลิกงานได้ไปที่ตลาดพรพัฒน์ และกลับที่พักอาศัย  

วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย A3 หมายเลข 1 – 70305 ตั้งแต่เวลา 13.30 – 22.20 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที
    
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564  วันหยุดประจำสัปดาห์ พนักงานผู้ติดเชื้อได้พักผ่อนอยู่ที่บ้าน 

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564  ได้รับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) หลังจากนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารปรับอากาศ สาย A3 หมายเลข 1 – 70305 ตั้งแต่เวลา 13.30 – 21.15 น. หลังเลิกงานได้กลับที่พักอาศัยทันที

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ว่าพนักงานเป็นผู้ติดเชื้อ จึงให้ไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

3. พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงกะบ่าย ซึ่งเป็นกะสุดท้ายของแต่ละวัน จึงไม่มีพนักงานขับรถคนใดนำรถไปขับต่อ อีกทั้ง เมื่อพนักงานขับรถนำรถกลับเข้าอู่เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในแต่วัน จะมีการฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารทันทีด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70%  จึงมั่นใจได้ว่ารถโดยสารขององค์การมีความสะอาด ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID -19) นอกจากนี้ องค์การได้พักการใช้งานรถโดยสาร จำนวน 3 คัน ที่พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ รถโดยสารธรรดา สาย 95 ก หมายเลข 1 – 50119, รถโดยสารปรับอากาศ สาย 510 หมายเลข 1 – 70257 และรถโดยสารปรับอากาศ สาย A3 หมายเลข 1 – 70305 เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อทำการ ฉีดพ่นทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถ รวมถึง อู่จอดรถ และท่าปล่อยรถโดยสาร


4. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้มีการตรวจสอบ พบว่าพนักงานขับรถโดยสาร จำนวน 3 คน ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารคันเดียวกับพนักงานผู้ติดเชื้อ จึงให้พนักงานขับรถโดยสารดังกล่าว หยุดงานไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19)  หากได้ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป


ทั้งนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสาร การล้างทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์  การฉีดพ่นทำความสะอาดภายในรถโดยสารด้วยแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังนำรถออกวิ่งให้บริการประชาชน 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Thainews

ขสมก.พบกระเป๋ารถเมล์สาย A3 ติดโควิด พร้อมแจงไทม์ไลน์อย่างละเอียด

>>Lazada มอบดีลช๊อปสุดพิเศษ สนใจคลิก<<