- 17 เม.ย. 2564
ราชกิจจานุเบกษาประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฉบับ 20 คุมเข้มโควิด-19 พื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัดและพื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด ห้ามจัดการเรียนการสอน ห้ามจัดกิจกรรมมีผู้ร่วม 50 คน ให้ผู้ว่าฯทั่วประเทศสั่งปิดสถานบริการ-สถานที่เสี่ยงแพร่โรค
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ 20) (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัดและพื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด อีกทั้งยังมีข้อกำหนดว่าห้ามจัดการเรียนการสอน ห้ามจัดกิจกรรมมีผู้ร่วม 50 คน ให้ผู้ว่าฯทั่วประเทศสั่งปิดสถานบริการ-สถานที่เสี่ยงแพร่โรค กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 18 จังหวัด พื้นที่ควบคุม 59 จังหวัด ห้าง-ศูนย์การค้าเปิดได้ถึง 3 ทุ่ม ร้านสะดวกซื้อเปิดได้ไม่เกินเวลา 5 ทุ่ม การงด-หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามจัดงานเลี้ยง สังสรรค์ รื่นเริง มาตรการมีผลตั้งแต่ 18 เม.ย.64 เป็นต้นไป
ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ นั้น
โดยที่จํานวนผู้ติดเชื้อสะสมและผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศได้เพิ่มจํานวนขึ้น อย่างต่อเนื่อง และการระบาดระลอกใหม่นี้ได้กระจายออกไปในหลายพื้นที่ค่อนข้างรวดเร็ว รัฐบาลโดย ข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 จึงมีความจําเป็นต้องเพิ่มเติมการบังคับใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการที่จําเป็นอย่างเร่งด่วน รวมทั้งปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ในจังหวัดที่ได้ตรวจพบการระบาดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถดําเนินการสกัดกั้นและระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ได้อย่างทันท่วงที อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ การห้ามการดําเนินการหรือจัดกิจกรรมหรือที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค
(๑) ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทเพื่อการ จัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทํากิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นจํานวนมากทําให้เสี่ยงต่อการแพร์โรค เว้นแต่การใช้เป็นที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือการใช้เป็นสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออุปการะ หรือการใช้สถานที่ตามข้อยกเว้นที่กําหนดไว้ในข้อ ๑ ของข้อกําหนด (ฉบับที่ ๑๖) ลงวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔
(๒) ห้ามการจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจํานวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่ดําเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กําหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค โดยให้ดําเนินการตามมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกําหนด ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยคําแนะนํา ของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี กําหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จัดกิจกรรม และสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ
ข้อ ๒ การปิดสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคทั่วราชอาณาจักร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ โรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี ดําเนินการตามกฎหมาย ว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน โดยให้สั่งปิดสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวอย่างน้อยสิบสี่วัน
กรณีที่ผู้มีอํานาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อได้มีคําสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว อย่างน้อยสิบสี่วันแล้วตามข้อกําหนด (ฉบับที่ ๑๔) ลงวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔ ให้คําสั่งดังกล่าว คงมีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้ประเมินสถานการณ์และดําเนินการตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติ ที่นายกรัฐมนตรีกําหนด
ข้อ ๓ การกําหนดพื้นที่สถานการณ์ กําหนดเขตพื้นที่สถานการณ์เพื่อการบังคับใช้ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจําแนกตามเขตพื้นที่ ดังนี้
(๑) พื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก จังหวัดนครปฐม จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระยอง จังหวัดสงขลา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอุดรธานี รวม ๑๘ จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
(๒) พื้นที่ควบคุม ให้พื้นที่จังหวัดอื่นนอกจากที่กําหนดใน (๑) รวม ๕๙ จังหวัด เป็นพื้นที่ควบคุม
ข้อ ๔ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจําแนกตามพื้นที่สถานการณ์ กําหนด มาตรการควบคุมที่จําเป็นอย่างเร่งด่วน สําหรับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม เพื่อให้สามารถ เปิดดําเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบและระเบียบ รวมทั้งมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกําหนด เป็นระยะเวลาอย่างน้อยสิบสี่วัน
(๑) พื้นที่ควบคุมสูงสุด
ก. การจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้บริโภคอาหารและเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา และให้จําหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา ๒๓.00 นาฬิกา ในลักษณะของการนําไปบริโภคที่อื่น
ข. การจําหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สําหรับร้านอาหารหรือสถานที่จําหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
ค. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะ คล้ายกัน ให้เปิดดําเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา ๒๑.00 นาฬิกา โดยให้จํากัดจํานวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดการให้บริการ
ง. ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิด ดําเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ แต่ไม่เกินเวลา ๒๓.00 นาฬิกา สําหรับร้านหรือสถานที่ ซึ่งตามปกติเปิดให้บริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดําเนินการได้ในเวลา ๐๔.๐๐ นาฬิกา
จ. สนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกําลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ ไม่เกินเวลา ๒๑.00 นาฬิกา และสามารถจัดการจัดการแข่งขันกีฬาได้โดยจํากัดจํานวนผู้ชมในสนาม
(๒) พื้นที่ควบคุม
ก. การจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้การบริการจําหน่ายอาหารและเครื่องดื่มและ การบริโภคในร้านได้ไม่เกินเวลา ๒๓.๐๐ นาฬิกา
ข. การจําหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สําหรับร้านอาหารหรือสถานที่จําหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
ค. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะ คล้ายกัน ให้เปิดดําเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ จนถึงเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา โดยให้ จํากัดจํานวนผู้ใช้บริการและงดเว้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกมและสวนสนุก ที่งดการให้บริการ
ข้อ ๕ การงดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทาง รัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนงดหรือชะลอ การเดินทางในช่วงเวลานี้โดยไม่มีเหตุจําเป็น โดยเฉพาะการหลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่ ควบคุมสูงสุดซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคที่อาจทําให้เสี่ยงหรือมีโอกาสติดโรค
การตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดําเนินการเท่าที่จําเป็นและเหมาะสม ของแต่ละพื้นที่ ตามมาตรการที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) กําหนด และต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ
ให้กระทรวงคมนาคมหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบและกํากับดูแลการให้บริการขนส่ง ผู้โดยสารที่เป็นการขนส่งสาธารณะทุกประเภท โดยต้องมีการจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ เป็นไป ตามมาตรการป้องกันโรคและแนวปฏิบัติตามพื้นที่สถานการณ์ที่ ศปก.ศบค. กําหนด
ข้อ ๖ การจัดกิจกรรมทางสังคม ให้ประชาชนงดการจัดกิจกรรมทางสังคมในลักษณะ ที่เป็นงานสังสรรค์ งานเลี้ยง หรืองานรื่นเริงในช่วงเวลานี้ เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยม และมีมาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ
ข้อ ๗ การดําเนินรูปแบบการปฏิบัติงานที่เหมาะสม ขอความร่วมมือให้เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณาและดําเนินรูปแบบการปฏิบัติงานของบุคลากรในความรับผิดชอบในช่วงเวลานี้ โดยอาจเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง การสลับวันทํางาน หรือวิธีการอื่นใด ที่เหมาะสมเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ
ข้อ ๘ มาตรการเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และ สาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด - 19 ร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 กระทรวงมหาดไทย และศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง เร่งดําเนินการจัดหาสถานที่เพื่อใช้ เป็นสถานที่รองรับ ดูแลรักษา และแยกกักหรือกักกันผู้ติดเชื้อหรือผู้มีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อโดยด่วน
โดยขอความร่วมมือจากสถานศึกษา มหาวิทยาลัย โรงแรม หอประชุม สถานที่ของเอกชน หรือ สถานที่อื่นใดที่มีความเหมาะสม รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข ยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์เพื่อการตรวจและรักษาโรค และอุปกรณ์อื่นที่จําเป็นให้เพียงพอ ตามมาตรฐานทางสาธารณสุข
ให้ผู้ติดเชื้อทุกรายเข้ารับการตรวจรักษาและเข้ารับการแยกกักหรือการกักกันในสถานที่ และตามระยะเวลาซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุขกําหนด จนกว่าจะได้ตรวจทางการแพทย์แล้วว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค
เพื่อจํากัดการระบาดและเพื่อความปลอดภัยของประชาชนส่วนรวม ให้ผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่มีเหตุ อันควรสงสัยว่าติดเชื้อรีบแจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุข หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในพื้นที่ทันทีเมื่อทราบว่าตนติดเชื้อหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อดังกล่าว เพื่อรับทราบแนวปฏิบัติตนและเข้ารับการแยกกักหรือกักกันเพื่อเตรียมพร้อมก่อนที่จะเข้ารับการตรวจ หรือรักษาตามขั้นตอนทางสาธารณสุขต่อไป
ข้อ ๔ การประเมินความเหมาะสมของมาตรการ ให้ ศปก.ศบค. พิจารณาและประเมิน สถานการณ์เพื่อการปรับเปลี่ยนระดับพื้นที่สถานการณ์ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ รวมทั้ง แนวปฏิบัติตามพื้นที่สถานการณ์ได้ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของ สถานการณ์ในห้วงเวลาต่าง ๆ และเสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาต
เพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการสั่งปิด จํากัด หรือ ห้ามการดําเนินการของพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะ หรือสั่งให้งดการทํากิจกรรมซึ่งมีความเสี่ยง ต่อการระบาดของโรคในเขตพื้นที่รับผิดชอบเพิ่มเติมจากที่กําหนดได้ โดยให้ดําเนินการสอดคล้องกับ มาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกําหนด
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔ เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๔
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ขอบคุณ ราชกิจจานุเบกษา
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Thainews