หมอยง ชี้ผลศึกษาภูมิคุ้มกันวัคซีนโควิด อาจจำเป็นต้องฉีดซิโนแวคเข็ม 3

หมอยง ชี้ผลศึกษาภูมิคุ้มกันวัคซีนโควิด อาจจำเป็นต้องฉีดซิโนแวคเข็ม 3 อีกทั้งยังได้โพสต์รูปภาพ 2 รูป เป็นภาพแสดงภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซเนก้า

วันที่ 16 มิถุนายน 2564 บนเฟซบุ๊กของศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการศึกษาภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า เรื่องระยะห่างการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าระหว่างเข็ม 1 และ 2  และกำลังอยู่ระหว่างศึกษาว่าวัคซีนซิโนแวคจะมีความจำเป็นต้องฉีดเข็ม 3 เมื่อไหร่

 

โดย ศ.นพ.ยง เปิดเผยว่าจากการศึกษาระดับภูมิต้านทานในสัปดาห์ที่ 10 และ 12 หลังฉีดเข็มแรก ระดับภูมิคุ้มกันไม่แตกต่างกัน และถ้าเป็นสัปดาห์ที่ 16 ก็เชื่อว่าถ้าภูมิคุ้มกันตกลงก็ไม่น่ามากไปกว่านี้ ส่วนการกระตุ้นแอสตร้าเซเนก้า เข็ม 2 โดยทั่วไปภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้น 1 log scale ซึ่งกำลังรอข้อมูลปลายเดือน มิ.ย.นี้ เพราะจะเห็นข้อมูลการศึกษาติดตามกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ครบ 2 เข็ม ในระยะ 1 เดือน

"การกระตุ้นภูมิต้านทานถ้าทิ้งระยะห่าง ภูมิต้านทานที่กระตุ้นขึ้นจะสูงกว่าระยะที่เข็มแรกกับเข็ม 2 เข้ามาชิดกัน แต่ข้อเสียของการเว้นระยะห่าง คือการป้องกันโรคในช่วงเว้นระยะ จะมีประสิทธิภาพยังไม่เต็มที่ ถ้ามีวัคซีนมากพอก็ไม่ควรเว้นระยะห่าง ในยามขาดแคลนวัคซีน หรือต้องการปูพรมคนหมู่มาก การได้เข็มเดียวก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย ปัญหาจึงอยู่ที่ทรัพยากรที่เราจะมีมา
 

โดยเฉพาะวัคซีนถ้าหามาได้มากก็ไม่ควรจะเว้นระยะห่างไปถึง 16 สัปดาห์ กลยุทธ์ในด้านระบาดวิทยาจึงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมก่อน"

นอกจากนี้ ศ.นพ.ยงกล่าวว่า "ส่วนวัคซีนซิโนแวคเราก็กำลังจะตรวจภูมิต้านทานระยะ 3 เดือนหลังฉีดเข็ม 2 ในต้นเดือน ก.ค. เพื่อดูการลดลงของภูมิต้านทาน และจะติดตามดูว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้เข็ม 3 เมื่อไร"

อีกทั้งยังได้โพสต์รูปภาพ 2 รูป เป็นภาพแสดงภูมิต้านทานหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซเนก้า เปรียบเทียบกับการติดเชื้อในธรรมชาติ IgG anti-spike RBD ดังภาพด้านล่างต่อไปนี้

 

ภาพแสดงการศึกษาภูมิต้านทานวัคซีนโควิด

 

หมอยงเผยอาจต้องฉีดซิโนแวคเข็ม 3

 

ขอบคุณ Yong Poovorawan