เปิดข้อกฎหมายควบคุมการขายน้ำผลไม้ ภาษีความหวาน 100% ก็ต้องเสียด้วย

เปิดข้อกฎหมายควบคุมการขายน้ำผลไม้ ภาษีความหวาน 100% ก็ต้องเสียด้วย

จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ได้โพสต์เล่าประสบการณ์ว่ามีลูกค้ามาสั่งซื้อน้ำส้มที่ร้านของเธอจำนวน 500 ขวด ผ่านทางเพจของตัวเอง โดยจะมารับของที่ร้านและจ่ายเงินสด เมื่อถึงเวลานัดได้มีลูกค้ามากัน 5 คน ถามหาใบอนุญาตขายน้ำ ก่อนมีการเรียกปรับ 12,000 บาท ด้วยความกลัวจึงยอมจ่ายเงินไป

ขายน้ำส้ม

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขายน้ำส้ม ไว้เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2559 ว่า การผลิตน้ำส้มคั้นขายจะมี 2 ส่วน คือ


1. ผลิตบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ปิดสนิทแล้วส่งไปขายตามร้านค้าต่างๆ นั้นเข้าข่ายเป็นโรงงาน ต้องขออนุญาตจาก อย.ก่อน และประกอบกิจการให้ได้มาตรฐานตามที่กำหนด คือ สถานที่ผลิตต้องได้รับการรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี(GMP) หรือมาตรฐานการผลิตที่ดี และถูกสุขลักษณะ โดยหากระบุว่าเป็นน้ำส้มคั้นสด 100% ย่อมหมายความว่าห้ามใส่อะไรลงไปเด็ดขาด แม้แต่สารให้ความหวานอย่าง ขัณฑสกร ก็ห้ามใส่ แต่หากเป็นน้ำผลไม้ผสม ที่ผลิตตามโรงงานนั้นก็ต้องผสมตามสัดส่วนที่ อย.กำหนด คือ ต้องไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนี้ จะต้องมีฉลากแสดงชื่อสินค้า สถานที่ผลิต ส่วนประกอบ รวมถึงมีเลข 13 หลัก ที่ได้รับอนุญาตจากอย. แสดงให้ผู้บริโภคทราบด้วย 


2. ส่วนกรณีที่เป็นร้านค้า รถเข็น ที่คั้นสดๆ และจำหน่ายทันทีนั้นทราบว่าต้องขออนุญาตในการเปิดร้านจำหน่ายจากท้องถิ่นด้วย

นอกจากนี้ พ.ร.บ.สรรพสามิตปี 2560 ได้มีการเรียกเก็บภาษีความหวาน รวมถึง น้ำผลไม้ หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร จะต้องเสียภาษี 0.30 บาท/ลิตร, หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม จะต้องเสียภาษี 0.50 บาท/ลิตร, หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร จะต้องเสียภาษี 1 บาท/ลิตร ซึ่งความหวานที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่มีค่าความหวานเกินกว่า 6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ทำให้น้ำผลไม้ 100% ทุกรายล้วนต้องเสียภาษีดังกล่าว

พ.ร.บ.สรรพสามิต