- 25 มิ.ย. 2564
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถือเป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่ง เกิดจากมีจุด หรือตำแหน่งบางตำแหน่งในหัวใจที่กำเนิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติ หรือมีจุดวงจรลัดไฟฟ้าเล็กๆ ภายในหัวใจ เนื่องจากความผิดปกติดังกล่าวมีขนาดเล็กจึงไม่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ
โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถือเป็นโรคหัวใจชนิดหนึ่ง เกิดจากมีจุด หรือตำแหน่งบางตำแหน่งในหัวใจที่กำเนิดกระแสไฟฟ้าผิดปกติ หรือมีจุดวงจรลัดไฟฟ้าเล็กๆ ภายในหัวใจ เนื่องจากความผิดปกติดังกล่าวมีขนาดเล็กจึงไม่มีผลต่อการทำงานของหัวใจ แตกต่างจากโรคหัวใจชนิดอื่นที่มักมีพยาธิสภาพขนาดใหญ่ เช่น ที่ลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งพบร่วมกับการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ
อาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
-หัวใจเต้นช้าผิดปกติ มีอัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที จะมีอาการมึนงง ใจหวิว วูบ ความดันโลหิตต่ำ หากเป็นหนักอาจจะเป็นลมหมดสติ ในรายที่อาการไม่มาก อาจมีเพียงอาการอ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย
-หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มีอัตราการเต้นของหัวใจมากกว่า 60 ครั้ง/นาที หากเป็นเพียงเล็กน้อยจะมีอาการเหนื่อยง่าย และหัวใจเต้นเร็วเท่านั้น แต่หากเป็นหนักจะมีอาการเจ็บหน้าอก หน้ามืด ความดันโลหิตต่ำ หัวใจวาย และอาจเสียชีวิตโดยเฉียบพลัน หากเกิดข้อสงสัยในกรณีที่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรพบแพทย์เพื่อซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียด ในกรณีมีอาการวูบ เป็นลม หมดสติ มีอาการใจสั่นอย่างรุนแรง หรือเหนื่อยมาก โดยขณะที่มีอาการควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
สาเหตุหลักๆ ของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
-กรรมพันธุ์ ซึ่งเป็นความผิดปกติของวงจรไฟฟ้าหัวใจตั้งแต่กำเนิด
-การเสื่อมสภาพของระบบไฟฟ้าหัวใจ มักเกิดในผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ เนื่องจากหัวใจทำงานมาเป็นเวลานาน จึงเกิดความเสื่อมตามอายุการใช้งาน ระดับพลังงานที่กระตุ้นหัวใจจึงทำงานน้อยลง ส่งผลให้หัวใจเต้นช้าผิดปกติ
-โรคบางชนิด ส่งผลให้เกิดการเต้นผิดจังหวะ เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเส้นเลือดสูง โรคเบาหวาน และผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
-ยา และสารเสพติดบางชนิด การทานยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ เช่น ยารักษาโรคหวัด ยาขยายหลอดลม ยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ
การวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
-คลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือกราฟหัวใจ เป็นการตรวจจับกระแสไฟฟ้าที่ออกมาจากหัวใจ หัวใจคนเราประกอบด้วยส่วนของกล้ามเนื้อหัวใจที่แข็งแรง ทำงานตลอดเวลา การที่กล้ามเนื้อหัวใจจะทำงานบีบตัวได้นั้น ต้องอาศัยไฟฟ้ากระตุ้น ซึ่งไฟฟ้านี้มาจากหัวใจเอง โดยจะปล่อยไฟฟ้าออกมาเป็นจังหวะ จากหัวใจห้องบนขวาลงมายังหัวใจห้องล่าง ขณะที่ไฟฟ้าผ่านกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจจะเกิดการหดตัว และตามมาด้วยการคลายตัว หัวใจจึงบีบตัวไล่เลือดจากห้องบนมายังห้องล่างอย่างสัมพันธ์กัน เมื่อนำเอาตัวจับสัญญาณไฟฟ้ามาวางไว้ที่หน้าอกใกล้หัวใจ ก็สามารถบันทึกไฟฟ้าที่ออกจากหัวใจนี้ได้
-การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง เป็นการบันทึกสภาวะคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหาสาเหตุของอาการใจเต้น ใจสั่น อาการวูบ การตรวจวิเคราะห์หัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม. ทำโดยติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมงไว้กับตัว ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักที่บ้าน หรือทำงานได้ตามปกติ ไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล เมื่อครบกำหนด 24 ชั่วโมงแล้ว จึงกลับมาถอดเครื่อง และฟังผลการตรวจวิเคราะห์จากแพทย์ การตรวจวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่อาจจะมีปัญหาใจสั่นผิดปกติเป็นครั้งคราว หน้ามืดคล้ายจะเป็นลมอยู่เสมอ เวียนศีรษะ ใจเต้นแรงผิดปกติเป็นประจำ หรือบางครั้งอาการดังกล่าวอาจไม่ปรากฎ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ณ เวลาที่ไม่มีอาการก็ปกติ ทำให้ไม่ทราบว่าอาการใจสั่นเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือไม่
การรักษา เป็น 2 กลุ่ม
รักษาโดยเปลี่ยนให้หัวใจกลับมาเต้นอย่างปกติ โดยการรักษาด้วยยา รักษาด้วยไฟฟ้า หรือรักษาโดยใช้คลื่นวิทยุ นอกจากนี้ อาจพิจารณารักษาด้วยยา เพื่อคุมไม่ให้หัวใจเต้นเร็วเกินไปเท่านั้น บางรายจำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดร่วมด้วย ทั้งนี้ การรักษาในแต่ละรายจะขึ้นกับลักษณะของผู้ป่วยและแพทย์ผู้ทำการรักษาด้วย อย่างไรก็ตาม โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะส่วนใหญ่มีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป แต่พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ความเครียด ยาบางชนิดชา กาแฟ แอลกอฮอล์ เป็นต้น