- 25 มิ.ย. 2564
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา(สบ9) ตร. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการสำรวจความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชนและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำงานของตำรวจ ผ่านพีเพิลโพล ประจำเดือนมิถุนายน 2564
วันนี้ (25 มิถุนายน 2564) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา(สบ9) ตร. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการสำรวจความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมของประชาชนและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการทำงานของตำรวจ ผ่านพีเพิลโพล ประจำเดือนมิถุนายน 2564 ว่า ที่ผ่านมาสำนักงานยุทธ์ศาสตร์ ตร. มีการเก็บข้อมูลเป็นประจำทุกปี วิเคราะห์ข้อมูล รวบรวมสถิติต่างๆ เพื่อเป็นตัวชี้วัดของ ตร. ซึ่งจะสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ต่อมาพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มีแนวคิดในการที่จะดูสถิติ ดูการทำงานของตำรวจแบบเรียลไทม์ จึงได้ริเริ่มทำพีเพิลโพล มีเปลี่ยนแปลงรูปแบบจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบกูเกิลฟอร์ม เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นเดือนแรก และประเมินผลทุกสิ้นเดือน พบว่าในเดือนนี้มีประชาชนช่วงอายุ 20-40 ปี กรอกข้อมูลเข้ามากว่า 2 แสนกว่าราย จากสถานีตำรวจ 1,484 แห่ง ถือว่าเป็นที่น่าพอใจ เพราะที่ผ่านมาในหนึ่งปีมีการจัดเก็บตัวอย่างเพียง 1-2 พันราย แต่ตอนนี้เมื่อเราใช้ข้อมูลที่ทันสมัย ใช้เครื่องมือกูเกิลฟอร์ม ประชาชนก็จะกรอกง่าย อยู่บ้านก็กรอกได้
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า สำหรับข้อมูลผลสำรวจในหัวข้อความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมต่อชีวิต ร่างกาย และเพศ พบว่า ประชาชนหวาดกลัวภัยในเรื่องการทำร้ายร่างกายมากที่สุด รองลงมาคือการถูกฆ่า และอันดับที่สาม คือภัยยาเสพติด ต่อมาเป็นผลสำรวจหัวข้อความหวาดกลัวภัยต่อทรัพย์สิน ประชาชนหวาดกลัวเรื่องการลักทรัพย์มากที่สุด รองลงมาคือชิงทรัพย์ และอันดับที่สามการวิ่งราวทรัพย์ และผลสำรวจหัวข้อความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมสมัยใหม่ ประชาชนหวาดกลัวเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากที่สุด รองลงมาคือการหลอกลวงซื้อของออนไลน์ และอันดับที่สาม การพนันออนไลน์ โดยจะเห็นได้ว่าแบบฟอร์มนี้วัดความรู้สึกและความต้องการของประชาชนได้จริงๆ ทำให้ ผบ.ตร. สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการสั่งการตำรวจทุกโรงพัก บริหารข้อมูลเหล่านี้ตามสถานการณ์จริงได้ ทิศทางการทำงานจะชัดเจนและตรงเป้ามากขึ้น วันนี้ฟันเฟืองทุกตัวต้องขยับ ข้อมูลพีเพิลโพล จะบอก ผกก.ทุกโรงพัก ว่าพื้นที่ตนเองมีปัญหาอะไรมากที่สุด
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ส่วนผลสำรวจความพึงพอใจของประชาชนที่ขึ้นมาใช้บริการภายในสถานีตำรวจ เราใช้เกณฑ์ 70 % โดยทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศผ่านเกณฑ์หมด แต่ผ่านเกณฑ์แบบปริ่มๆ 74-76 % เหล่านี้ทำให้เราต้องพัฒนาต่อไป ทั้งนี้การสำรวจของพีเพิลโพล เป็นระบบที่จำกัด 1 หมายเลขโทรศัพท์ ต่อ 1 การให้ข้อมูล และทำได้เพียง 1 ครั้งต่อเดือน เพราะฉะนั้นจะไม่มีหน้าม้ามาให้ข้อมูล และ ผบ.ตร. ย้ำว่าขอให้กรอกข้อมูลแบบตรงไปตรงมา จะได้นำข้อมูลมาปรับปรุงการทำงานของสายตรวจ ฝ่ายสืบสวน และจราจร ได้
ทั้งนี้การจัดทำผลสำรวจยังพบว่าสิ่งที่ประชาชนทั้งประเทศมีความต้องการมากที่สุดคือ กล้องซีซีทีวี เพราะประชาชนมีความมั่นใจต่อการบันทึกภาพจากกล้อง ทำให้ ผบ.ตร. จึงได้ริเริ่มนำร่องโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 3 โซน คือ ห้วยขวาง ลุมพินี และภาษีเจริญ ส่วนในต่างหวัดจะมีภาคละ 1 โซน คือ พัทยา ภูเก็ต อุดรธานี ปากเกร็ด สมุทรปราการ เชียงใหม่ หาดใหญ่ เป็นต้น
ซึ่งโครงการดังกล่าวมีการนำกล้อง AI มาใช้จดจำใบหน้า ติดตามบุคคลได้ จะเห็นได้ว่าแนวคิดสมาร์ทเซฟตี้โซน ของ ผบ.ตร. จะนำร่องในเมืองเศรษฐกิจที่เป็นแลนด์มาร์คของประเทศ เพื่อรองรับการเปิดประเทศในอีก 120 วัน ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยจะมีการเปิดโครงการที่แยกราชประสงค์ ในต้นเดือนหน้า และจะคิกออฟพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ให้หวาดกลัวภัยน้อยที่สุด