- 02 ก.ค. 2564
นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ต่อสายตรงถึง "ไฟเซอร์-โมเดอร์นา" แฉไทยได้ช้าเพราะรัฐบาลไม่ยอมเซ็นสัญญา
วันที่ 2 ก.ค. 64 นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG ได้กล่าวในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ถึงกรณีการนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นา และ วัคซีนไฟเซอร์ ที่ล่าช้า โดยระบุว่า การสั่งซื้อวัคซีนนั้น ผู้ผลิตระบุว่าหลังจากเซ็นสัญญาแล้ว ทางบริษัทผู้ผลิตจะต้องใช้เวลา อีก 4 เดือน ถึงจะส่งวัคซีนไปยังประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนได้ หากไม่ติดเงื่อนไขจากรัฐบาล บริษัทธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด เตรียมพร้อมทำการสั่งซื้อทั้งโมเดอร์นา และ ไฟเซอร์ ไปจำนวน 50 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนตุลาคม 63 เพราะคาดว่าจะได้วัคซีนทางเลือก ที่ผลิตโดยเทคโนโลยีใหม่ mRNA มาฉีดให้ประชาชนในเดือนกุมภาพันธ์ 64 ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนดำเนินการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย ติดเพียงภาครัฐไม่ยอมเซ็นให้ โดยให้เหตุผลว่าต้องเป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ ทำให้เอกชนไม่สามารถสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกได้และรอวัคซีนมาจนถึงปัจจุบัน
โดยเมื่อเดือนเมษายน มีการยืนยันจากทั่วโลก ว่า วัคซีนแบบ mRNA คือวัคซีนที่ดีที่สุด โดยเฉพาะไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งมีประสิทธิผลดีที่สุด คุ้มกันไม่ให้เกิดโรคได้ ไม่ใช่เพียงแค่ป้องกันการเสียชีวิต หรืออาการหนักเท่านั้น โดยมีประสิทธิภาพสามารถป้องกันได้ทั้ง โควิด19 สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) สายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) และสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้)
ขณะที่หลายประเทศที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค การติดเชื้อโควิดยังเยอะ ล้มตายจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ใช้ mRNA ก็ยืนยันชัดเจนว่าป้องกันไวรัสได้ดี ถ้าจะจัดเกรดวัคซีนนั้น วัคซีนซิโนแวค เป็นวัคซีนเกรดซี ภูมิขึ้นน้อย ฉีดไป 4-5 สัปดาห์ ภูมิลดลง ต้องกระตุ้นโดยการฉีดเข็มสาม แอสตร้าเซนเนก้า ก็ต้องกระตุ้น
ส่วนเรื่องการซื้อวัคซีนที่ล่าช้านั้น ได้ติดต่อไปทางบริษัทผู้ผลิต เนื่องจากสนิทกัน ด้วยความสงสัยว่าทำไมประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อย่าง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ถึงได้แล้ว แต่ไทยไม่มีสักโดส จึงโทรศัพท์ไปที่ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ที่สนิทเป็นการส่วนตัว โดยได้คำตอบว่า ไทยไม่ยอมเซ็นสัญญา
นอกจากนี้ นพ.บุญ ยังมองว่าไทยมีการตรวจเชิงรุกน้อยมาก เราตรวจได้เพียงร้อยละ 5 ซึ่งตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ควรตรวจอย่างน้อยร้อยละ 15 ในต่างประเทศอย่างจีน ไต้หวันหรือเกาหลีใต้ ตรวจเชิกรุกกันมากกว่าร้อยละ 30-40 และยังมองสะท้อนความจริงที่ว่า ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ มาตั้งแต่เดือนก่อน เพราะ ICU ทั่วประเทศที่มีกว่า 500 เตียง ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง ล้นมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว อย่างไรก็ตามทางบริษัทธนบุรี เฮลแคร์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ THG จะเข้าไปช่วยเหลือภาครัฐด้วยการเพิ่มห้องความดันลบ ที่สามารถรองรับผู้ป่วยหนักได้อีก 110 เตียงภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากนั้นจะเพิ่มเตียงผู้ป่วยสีเหลืองอีก 500 เตียง และเตียงสีเขียวเพิ่มอีกประมาณ 3,000 เตียง
สุดท้ายที่อยากฟังความชัดเจนจากรัฐบาล คือ คำตอบว่าทำไมการสั่งวัคซีน mRNA ถึงได้ช้า ทำไมจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้วัคซีน ทั้งที่วัคซีนแบบ mRNA ทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นา ได้ผลดีที่สุด ผลข้างเคียงน้อยสุด ในมุมมองโรงพยาบาลเอกชน มองว่าการระบาดที่ผ่านมารัฐบาลประมาทเกินไป ทั้งที่นักวิชาการก็บอกว่าไวรัสโควิด19 กลายพันธุ์เร็วมาก รัฐบาลรอวัคซีนเพียงชนิดเดียวคือแอสตราเซเนก้า แต่เมื่อแอสตราเซเนก้า ผลิตไม่ทันสถานการณ์ที่มีการระบาดเกิดขึ้น ก็เลือกซื้อวัคซีนซิโนแวคมาแทน ซึ่งต้องยอมรับคุณภาพไม่สามารถเทียบวัคซีน ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ mRNA ได้
ขอบคุณ เรื่องเล่าเช้านี้