- 07 ก.ค. 2564
รู้จัก "แม็ค กฤตธัช" หนึ่งในทีมโดรนและ CEO ของ NOVY โดรน ที่ร่วมกับทีมงานและเจ้าหน้าที่กู้ภัยช่วยบินโดรนเพื่อหาจุดปิดวาล์วโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้จนเจ้าหน้าที่สามารถหาจุดปิดวาล์วได้สำเร็จ
จากเหตุการณ์สุดระทึกที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางดึกของวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เมื่อมีเสียงระเบิดดังขึ้นจากโรงงานบริษัทหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 21 และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ไฟลุกไหม้โรงงานกิ่งแก้วแห่งนี้ครั้งใหญ่ ทางจังหวัดสมุทรปราการต้องสั่งอพยพประชาชนที่อยู่ในรัศมีโดยรอบ 5 กม.จากโรงงานให้รีบย้ายออกไปชั่วคราวเนื่องจากในโรงงานมีสารเคมีอันตรายอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดการเผาไหม้และเป็นควัน หากสูดดมเข้าไปมีผลเป็นอันตรายถึงชีวิต และป้องกันการระเบิดซ้ำ
จากนั้นเจ้าหน้าที่อาสากู้ภัย ดับเพลิง และเจ้าหน้าที่หลายภาคส่วนต่างระดมกำลังเข้ามาควบคุมสถานการณ์ เมื่อไฟเริ่มเบาลงจึงตัดสินใจหาทางเข้าไปปิดวาล์วถังสารเคมีภายในโรงงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็สามารถทำได้สำเร็จตอนกลางดึกวันที่ 5 ก.ค. 2564 และหนึ่งในกำลังสำคัญคือทีมโดรน NOVY โดรนกู้ภัยที่นำอุปกรณ์มาช่วยบินหาจุดปิดวาล์วให้กับเจ้าหน้าที่ได้ และวันนี้ทางเราจะพาไปรู้จักกับคุณ แม็ค กฤตธัช หนึ่งในทีมโดรนและยังเป็น CEO ของ NOVY โดรน อีกด้วย
โดยCEO หนุ่มรายนี้มีชื่อว่า แม็ค กฤตธัช สารทรานนท์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท NOVY Drone โดยเขาเล็งเห็นถึงโอกาสและปัญหาที่โดรนของเขาสามารถตอบโจทย์และช่วยเหลือคนได้ จึงพัฒนาต่อยอดมาเป็น โดรนเพื่อการกู้ภัย เหมาะสำหรับการใช้งานในอาคารสูง เพื่อดับไฟได้ตรงจุด
โดยทีมของเขาได้รับการติดต่อให้เข้ามาเสริมกำลังในภารกิจนี้และสามารถบินหาจุดปิดวาล์วได้ในเวลาประมาณ 20.15 น. หลังจากทีมมาถึงโรงงานกิ่งแก้วในเวลาประมาณ 16.00น. จนกระทั่งเวลาเกือบๆเที่ยงคืนเจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าไปปิดวาล์วได้สำเร็จ
โดยคุณแม็คได้คอยโพสต์อัปเดตสถานการณ์จากหน้างานอยู่เป็นระยะ ซึ่งข่าวดีข่าวแรกคือข่าวที่พวกเขาหาจุดปิดวาล์วได้แล้ว ถือว่าเป็นการจบภารกิจ แต่ยังคงอยู่เพื่อเสริมกำลังให้เจ้าหน้าที่
"หาจุดปิดวาล์วได้แล้วครับหลังจากเฮลิคอปเตอร์หยุดปฎิบัติการ ทีมโดรน Novy ได้ถูกผสานขึ้นบินเพื่อหาจุดปิดวาล์ว ถังสารเคมีใหญ่ที่อยู่ใต้ดินขนาดใหญ่ **ภารกิจเสร็จสิ้น**เจ้าหน้าที่กำลังฉีดโฟมเข้าและลุยผจญเพลิงเข้าไปที่ตำแหน่งเพื่อปิดวาล์ว"
และหลังจากนั้นเจ้าตัวได้โพสต์อีกครั้งว่า "สิ่งที่พวกเราเคยคิดและอยากเตรียมรับมือ มันก็ได้เกิดขึ้นจริง ถึงเวลาแล้วครับ ที่ทุกคนจะหันมาตระหนักและเห็นคุณค่าในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีโดรน และหุ่นยนต์กู้ภัย โดยไม่ต้องใช้มนุษย์เข้าพื้นที่เสี่ยงภัย เราจะมุ่งมั่นสร้างสรรค์เทคโนโลยีมาเพื่อช่วยประเทศของเราครับ จริงๆ มีเทคโนโลยีที่เด็กรุ่นใหม่คิดค้นแล้วใช้งานได้จริงอีกมาก แต่ขาดพื้นที่และโอกาสครับ"
ขอบคุณ Kridtat Satharanond