- 13 ก.ค. 2564
วันที่ 13 ก.ค. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา แถลงปมการศึกษาการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ เพื่อกระตุ้นภูมิได้รวดเร็วกว่า รอฉีดแอสตร้า 2 เข็ม อธิบายถึงแผนการสลับชนิดวัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชน ว่าไวรัส
วันที่ 13 ก.ค. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา แถลงปมการศึกษาการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ เพื่อกระตุ้นภูมิได้รวดเร็วกว่า รอฉีดแอสตร้า 2 เข็ม อธิบายถึงแผนการสลับชนิดวัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชน ว่าไวรัสและแบคทีเรียไม่ทราบหรอกว่าวัคซีนที่ฉีดไปเป็นยี่ห้อใด และถามว่าเคยสงสัยหรือไม่ว่าวัคซีนป้องกันโรคอื่นที่ฉีดให้บุตรหลานเป็นยี่ห้อใดบ้าง
"ผมยกตัวอย่างวัคซีนในเด็กเนี่ยนะครับ เกือบทุกชนิดเลย ไม่ว่าตั้งแต่ไข้สมองอักเสบ ป้องกันท้องเสีย เมื่อผลิตออกมาใหม่ๆ แต่ละบริษัทออกมาบอกว่า การใช้จะต้องไม่ข้ามกันนะครับ จะต้อง... หมายถึงเข็ม 1 เข็ม 2 เข็ม 3 จะต้องใช้ยี่ห้อเดียวกัน แต่ต่อมาแม้กระทั่งวัคซีนท้องเสียโรตา หรือแม้กระทั่งวัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เนี่ยนะครับ เวลาใครไปฉีดคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ในเด็กเนี่ย เคยถามไหมว่าลูกฉีดยี่ห้ออะไรนะครับ ปีนี้ประมูลได้ยี่ห้ออะไร ปีหน้าประมูลได้ยี่ห้ออะไรนะครับ ไวรัสหรือแบคทีเรียต่างๆ ก็คงไม่รู้หรอกว่าวัคซีนที่ฉีดไปเนี่ยยี่ห้ออะไรนะครับ" การกล่าวนี้เกิดขึ้นระหว่างการแถลงข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแนวทางการฉีดวัคซีนของไทย จากเดิมที่ฉีดวัคซีนยี่ห้อเดียวกันให้กับคนๆ เดียว มาเป็นการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ ระหว่างซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า โดยอ้างว่าให้ประสิทธิผลต่อโรคโควิด-19 ได้ดีกว่า
ศ.นพ.ยง ยังยกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมาก็มีการสลับชนิดวัคซีนเกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ อย่างเช่น ที่สหราชอาณาจักร ที่มีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นโดสแรก และวัคซีนชนิด mRNA เป็นเข็มที่ 2 "ในทำนองเดียวกันโควิดวัคซีนเมื่อผลิตขึ้นมาใหม่ๆ แล้วมีต่างแพลตฟอร์ม ทุกส่วนทุก... เอ่อ... บริษัทก็ต้องบอกว่าให้ใช้ตามการศึกษาที่ผ่านมา โดยใช้ยี่ห้อเดียวกันนะครับ การใช้สลับกันเนี่ยนะครับจะต้องมี การศึกษานำมาก่อน เราจะเห็นได้ชัดอันหนึ่งก็คือว่า การใช้ mRNA วัคซีนสลับกับไวรัสเวกเตอร์เริ่มขึ้นในอังกฤษนะครับ โดยเฉพาะในช่วงที่มีวัคซีนขาดแคลนก็ได้มีการเอามาใช้ แล้วหลังจากนั้นก็ได้มีการศึกษากันขึ้นมานะฮะ โดยทีมของออกซ์ฟอร์ดในอังกฤษ" "เราจะเห็นได้ว่าบุคคลสำคัญของยุโรปก็มีการฉีดวัคซีนเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ฉีดเป็นไฟเซอร์นะ ทุกคนก็คงได้ยินข่าว" อย่างไรก็ตาม การสลับชนิดวัคซีนที่จะเกิดขึ้นในไทยไม่ได้เป็นวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์และ mRNA อย่างที่ปรากฏในสหราชอาณาจักร แต่เป็นชนิดเชื้อตายของซิโนแวคสลับกับไวรัสเวกเตอร์ของแอสตร้าเซนเนก้า
โดยจากการศึกษาเบื้องต้นในประเทศไทยมีการฉีดสลับไปแล้วมากกว่า 1,200 คนและฉีดเยอะสุดที่โรงพยาบาลจุฬาฯ มีการบันทึกอาการข้างเคียงในแอปพลิเคชันหมอพร้อม พบไม่มีใครมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง ดังนั้นสามารถยืนยันได้ว่าการใช้วัคซีนสลับชนิดกันมีความปลอดภัย การกลายพันธุ์ของโควิด-19 ถือ เป็นเรื่องปกติของไวรัส โคโรนาเป็นหนึ่งในไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงดีเอ็นเอจาก สายพันธุ์ตั้งต้นที่แพร่ระบาดแค่หลักสิบต่อมา ระบาดระลอกที่ 2 เป็นการแพร่ได้เร็วขึ้น และเปลี่ยนแปลงพัฒนามาจนเป็นสายพันธุ์เดลตา ที่แพร่ระบาดได้เร็วมากถึง 4 เท่า และจะเข้ามาครองพื้นที่ เพราะแพร่ได้ง่าย โอกาสติดต่อจากคนสู่คน ทำได้ง่ายมาก ปริมาณไวรัสสูง เพราะฉะนั้นทุกคนต้องดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดใส่หน้ากากอนามัยและรักษาสุขอนามัย 100% เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยป้องกันไวรัสได้ดีกว่าการฉีดวัคซีนด้วยซ้ำ