- 14 ก.ค. 2564
ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจเเก่ข้าราชการ กรมบัญชีกลางออกหลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาล กรณีติดโควิดรักษาตัวที่บ้าน และมีอาการผิดปกติหลังได้รับวัคซีน
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยที่สถานพยาบาลของทางราชการหรือสถานที่อื่นที่สถานพยาบาลได้จัดเตรียมไว้ อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ ได้กำหนดแนวทางการให้การรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่บ้าน (Home Isolation) หรือในสถานที่อื่น ๆ (Community Isolation)
ระหว่างรอเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ประกอบกับได้มีการเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีนด้วยนั้น กรมบัญชีกลางจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ อัตรา วิธีการ และเงื่อนไข การเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (ฉบับที่ 3) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กรณีได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด 19 และอยู่ระหว่างรอเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ซึ่งแพทย์มีความเห็นให้รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือสถานที่อื่น ๆ (Community Isolation) ผู้มีสิทธิสามารถเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลได้ ดังนี้
1.1 ค่าบริการของสถานพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยกรณีพักรอก่อนเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง วันละไม่เกิน 1,000 บาท และไม่เกิน 14 วัน
1.2 ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการติดตามอาการ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,100 บาท ต่อราย
1.3 ค่ายา ค่าเอกซเรย์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ และค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด
1.4 ค่าพาหนะส่งต่อ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,000 บาท และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนรถพาหนะ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้ง ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ป้องกันบุคคลของเจ้าหน้าที่แล้ว
2. กรณีมีอาการผิดปกติภายหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 และแพทย์สันนิษฐานว่าเกิดภาวะ
เกล็ดเลือดต่ำที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีน หากเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ให้มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ดังนี้
2.1 ค่าตรวจ Heparin-PF 4 antibody (lgG) ELISA assay และค่าตรวจ Heparin induced platelet activation test (HIPA) ตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด เรื่อง อัตราค่าบริการสาธารณสุขเพื่อใช้สำหรับ
การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของทางราชการ ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.2 ค่ายา IVIG (Human normal immunoglobulin, intravenous) ตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด
“หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลข้างต้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ Call center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว #กรมบัญชีกลาง #โควิด19 #สวัสดิการรักษาพยาบาล