- 14 ก.ค. 2564
อันโตนิอู กูแตร์เรซ เลขาธิการสหประชาชาติระบุว่าโลกต้องการวัคซีนโควิด-19 รวม 1.1 หมื่นล้านโดส เพื่อฉีดให้ร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด จึงจะสามารถยุติการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกได้
อันโตนิอู กูแตร์เรซ เลขาธิการสหประชาชาติระบุว่าโลกต้องการวัคซีนโควิด-19 รวม 1.1 หมื่นล้านโดส เพื่อฉีดให้ร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด จึงจะสามารถยุติการระบาดครั้งใหญ่ทั่วโลกได้
“การให้คำมั่นส่งมอบวัคซีนหรือการระดมทุนเป็นสิ่งที่ดี แต่มันไม่เพียงพอ เราต้องการวัคซีนอย่างน้อย 1.1 หมื่นล้านโดสเพื่อฉีดให้ประชาชนร้อยละ 70 ของโลกและยุติการระบาดใหญ่” กูแตร์เรซระบุ ระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีของการประชุมเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นเวทีสำคัญด้านการทบทวนการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 ประการ
“ประชาชนทุกคนในทุกประเทศต้องสามารถเข้าถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 การตรวจเชื้อ การรักษา และการช่วยเหลือได้ ความคืบหน้าของกระบวนการฉีดวัคซีน รวมถึงส่วนที่ดำเนินการผ่านกลไกความเสมอภาคระดับโลก โครงการเร่งปฏิบัติการต้านโควิด-19 (ACT Accelerator) และโครงการโคแวกซ์ (COVAX) สร้างความหวังให้เรา” กูแตร์เรซกล่าว
กูแตร์เรซระบุว่าปัจจุบันมี “ความไม่เท่าเทียมด้านการเข้าถึง” เครื่องมือเหล่านี้ โดยเฉพาะวัคซีน ทั้งระดับประเทศและภายในประเทศ ซึ่ง “ช่องว่างทางการฉีดวัคซีนระดับโลกนี้ เป็นอันตรายต่อเราทุกคน” เนื่องจากเชื้อไวรัสฯ ชนิดกลายพันธุ์จะมีอัตราการติดเชื้อสูงขึ้นและร้ายแรงยิ่งขึ้น
“โลกต้องการแผนการฉีดวัคซีนระดับโลกที่ต้องยกระดับกำลังการผลิตวัคซีนอย่างน้อย 2 เท่า ทำให้มั่นใจว่ามีการจัดสรรวัคซีนอย่างเท่าเทียมผ่านโครงการโคแวกซ์ มีการประสานงานการดำเนินการและการระดมทุน พร้อมสนับสนุนโครงการฉีดวัคซีนของแต่ละประเทศ” กูแตร์เรซกล่าว
“เพื่อการบรรลุแผนนี้ ผมได้เรียกร้องให้คณะทำงานเฉพาะกิจเหตุฉุกเฉินดึงหลายฝ่ายมาทำงานร่วมกัน ทั้งในหมู่ประเทศที่ผลิตวัคซีนและสามารถผลิตวัคซีนได้ องค์การอนามัยโลก หุ้นส่วนของโครงการเร่งปฏิบัติการต้านโควิด-19 และสถาบันการเงินระหว่างประเทศที่สามารถประสานงานกับบริษัทเภสัชภัณฑ์และผู้ผลิตที่เกี่ยวข้องได้ รวมถึงผู้มีผลประโยชน์ร่วมรายสำคัญอื่นๆ”
“ขณะนี้ เราจำเป็นต้องระดมทุนเพื่อสนับสนุนโครงการเร่งปฏิบัติการต้านโควิด-19 อย่างเต็มที่ รวมถึงหนุนแผนการลงทุนมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.63 ล้านล้านบาท) ที่นำโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก (World Bank) องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อยุติการระบาดใหญ่และผลักดันการฟื้นตัวของโลก”
ที่มา xinhuathai