- 19 ก.ค. 2564
วันที่ 18 ก.ค.64 ที่ผ่านมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเกี่ยวกับสัญญาการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ที่รัฐบาลไทยทำเป็นการทำสัญญาล่วงหน้า
วันที่ 18 ก.ค.64 ที่ผ่านมา นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเกี่ยวกับสัญญาการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ที่รัฐบาลไทยทำเป็นการทำสัญญาล่วงหน้า ซึ่งไม่ได้มีการระบุวันเวลาที่แน่ชัดในการจัดส่ง แต่ก่อนส่งทุกล็อตจะมีการเจรจาจัดส่งวัคซีนก่อนทุกเดือน แต่หากเป็นไปได้ไทยขอให้จัดส่งครบ 61 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 ส่วนกรณีให้จัดส่ง 3 ล้านโดส นพ.โอภาส ชี้แจงว่า เป็นข้อมูลที่มาจากวงประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.63 ยืนยัน กรมควบคุมโรค ยังไม่เคยบอกอย่างเป็นทางการว่าจะฉีดได้ 3 ล้านโดส รวมถึงเพิ่งทราบในวันที่ 25 มิ.ย.ว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทยนั้น จะมีการส่งให้ต่างประเทศ เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางรัฐบาลไม่ทราบมาก่อน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงผ่านออนไลน์แจ้งกรณีหนังสือข้อความที่ลงวันที่ 25 มิ.ย.2564 จากนายสจอร์ด ฮับเบน รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลก ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าที่ส่งให้กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า หากดูภาพรวมของหนังสือ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ได้ขอบคุณทางรองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่สนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนของบริษัท ทำให้สามารถผลิตวัคซีนขึ้นได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศอื่นนอกอาเซียนด้วย
รวมถึงรายงานที่ทางบริษัทได้ทำมาในการจัดส่งวัคซีนให้ตั้งแต่ต้น ตามข้อกำหนดการจัดส่งวัคซีนที่ทำไว้และมีการเจรจา ซึ่งโรงงานผลิตวัคซีนในไทยสามารถมอบวัคซีนได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน และก่อนหน้านี้ทางบริษัทก็ได้มีการจัดหาวัคซีนให้ไทยล่วงหน้าด้วย และมีการระบุถึงจำนวนวัคซีน โดยประเทศไทยได้จองมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จำนวน 61 ล้านโดส โดยกำลังการผลิตวัคซีนของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะส่งให้ไทยได้ 1 ใน 3 โดยจะพยายามส่งให้ครบถ้วนตามสัญญา
หากสังเกตดูในหนังสือการเจรจาตอนนั้น การผลิตวัคซีนยังไม่ได้แม้แต่ขวดเดียวเป็นการทำสัญญาล่วงหน้า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการระบุว่า เดือนไหนจะส่งจำนวนเท่าไรกี่โดส แต่ในสัญญาจะระบุเพียงเวลาที่จะส่งโดยจะแจ้งเป็นรายเดือน แต่ละเดือนที่ไทยต้องการ ต่อมา กรมควบคุมโรคได้มีหนังสือแจ้งไปยังแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ในวันที่ 24 เมษายน ซึ่งทุกเดือนจะมีการส่งไปให้บริษัท โดยรายละเอียดในหนังสือจะระบุว่า จะขอวัคซีนเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม 10 ล้านโดส เดือนสิงหาคม 10 ล้านโดส เดือนกันยายน 10 ล้านโดส เดือนตุลาคม 10 ล้านโดส เดือนพฤศจิกายน 10 ล้านโดส เดือนธันวาคม 5 ล้านโดส โดยเป็นหนังสือ ยืนยันว่า ไทยต้องการวัคซีนจำนวนเท่าใด ส่วนเรื่องการส่งมอบต้องขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตของแอสตร้าเซนเนก้าในไทยด้วย แต่สิ่งที่ขอไปไม่ได้แปลว่าไทยจะได้ตามที่ขอ
ในจดหมายที่ระบุว่า ประเทศไทยขอให้แอสตร้าเซนเนก้า จัดส่งวัคซีนให้ 3 ล้านโดสนั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลชุดนี้เป็นการอ้างอิงมาจากวงประชุมแบบไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 เมื่อเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการก็เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ในเดือนกันยายน 2563 มีการสอบถามว่า ความสามารถในการฉีดวัคซีนของประเทศไทยอยู่ที่เท่าใด ซึ่งขณะนั้นข้อมูลที่มีอยู่ คือ การฉีดอยู่ที่ประมาณวันละ 3 ล้านโดส ยืนยัน กรมควบคุมโรค ยังไม่เคยบอกอย่างเป็นทางการออกมาว่าจะฉีดได้ 3 ล้านโดส แต่ที่ผ่านมาได้มีตัวเลขประมาณการ ขีดความสามารถของไทยสามารถฉีดวัคซีนอยู่ที่ 10 ล้านโดสต่อเดือน หากวัคซีนมีความเพียงพอ ส่วนการจัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้ไทยจะมี 2 ส่วน คือ ความต้องการของประเทศไทย และอีกส่วนคือกำลังการผลิตของบริษัท ทั้งนี้ ในชุดสัญญาวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น มาจาก 3 ฝ่าย คือ กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย โดยการทำสัญญาเป็นการจองวัคซีนล่วงหน้า ซึ่งแอสตร้าเซนเนก้า ระบุไม่ได้ว่าจะมีการผลิตวัคซีนได้เท่าใด ซึ่งการจัดส่งมอบวัคซีนจะมีการเจรจาวัคซีนเป็นรายเดือน
ส่วนกรณีที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มีการจัดส่งไปยังต่างประเทศด้วยนั้น นพ.โอภาส ระบุว่า เพิ่งทราบเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่ามา แต่ก่อนหน้านั้น แอสตร้าเซนเนก้าก็ไม่ได้ระบุว่าวัคซีนที่ผลิตในไทยว่าจะมีการส่งให้ต่างประเทศ แต่ในสัญญาจะระบุว่า หากจะมีการส่งออกต่างประเทศก็ขอให้ไทยสนับสนุนส่งออกวัคซีนไปยังต่างประเทศไม่ให้มีการขัดขวางการส่งออกโดยไม่สมควร โดยแอสตร้าเซนเนก้ายังจัดส่งให้ไทยทุกสัปดาห์บางสัปดาห์ก็ส่งให้ 2 ครั้ง ส่วนที่มีการรายงานออกมาก่อนหน้านี้ว่า แอสตร้าเซนเนก้าจะส่งวัคซีนให้ไทยครบถึงเดือนพฤษภาคม 2565 นั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือขณะนี้การผลิตของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ในโรงงานผลิตในประเทศไทย พยายามจะผลิตให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะนี้กำลังการผลิตที่ไทยคำนวณอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านโดสต่อเดือน ถ้าคิดคือ 1 ใน 3 จะส่งให้ไทยได้ประมาณ 5 ล้านโดสอย่างต่ำ โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ไม่เคยระบุว่าจะส่งให้ไทยถึงพฤษภาคม 2565
ทั้งนี้ การผลิตวัคซีนขึ้นอยู่ในหลายปัจจัยและชีววัตถุ หากจะให้บริษัทวัคซีนระบุชัดว่าจะได้จำนวนเท่าใด คงเป็นเรื่องยากที่ทางบริษัทจะรับปากได้ครบถ้วน 100% ในสัญญาความต้องการที่ไทยส่งไปยังคงยืนยันอยู่ที่ 61 ล้านโดส ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้ในเดือนธันวาคมปีนี้ คงต้องมีการเจรจาเป็นรายเดือนต่อไป