- 25 ก.ค. 2564
หมอธีระวัฒน์ โพสต์ร่ายยาวถึงวิกฤตทุกด้านในตอนนี้ จะหลอกหลอนพวกเราไปอีกนานเท่านาน
วันนี้ ( 25 ก.ค.2564 ) นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha เผยว่า
วิกฤติ ศ นพ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ช่วงโควิดนี้ถ้าพูดคำว่าวิกฤตคนไทยทุกคนคงสามารถพรรณา หรือบรรยายความวิกฤติในทุกบริบทในทุกด้านได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน
ที่นำเรียนตรงนี้คงจะเป็นแง่มุมอีกด้านหนึ่งในฐานะที่เป็นหมอทาอายุรศาสตร์และทางระบบสมองและประสาท ที่ยังคงปฏิบัติงานอยู่ในโรงพยาบาล
ในระยะเวลาที่ผ่านมา ก่อนโควิด หมอทุกคนต้องผ่านประสบการณ์ที่ต้องอธิบายและคุยกับครอบครัวของผู้ป่วยว่า ขณะนี้ถึงระยะที่ไม่สามารถที่จะย้อนกลับ และฝืนให้การรักษาต่อไม่ได้
รวมอีกทั้งในกรณีที่มีภาวะทางสมองซึ่งถึงแม้ให้การรักษาอย่างเต็มที่หรือร่วมกับการผ่าตัดก็ตามแม้ว่าจะยังคงมีชีวิตอยู่แต่ยังคงต้องติดอยู่กับเครื่องช่วยชีวิตหรืออยู่ในสภาพเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทรา และต้องได้รับการดูแลจากครอบครัวไปจนกว่าจะจากไปในที่สุด
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ในชีวิตของพวกเราและทำให้ต้องมีความระมัดระวังและประเมินสภาพในขณะนั้นให้ถี่ถ้วนที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ โดยที่มีความเห็นของเพื่อนร่วมงานอื่นๆด้วย
แต่ในยุคโควิด สถานการณ์คับขันเหล่านี้ เกิดขึ้นในโรงพยาบาลแทบทุกแห่งตลอดเวลาทุกชั่วโมง ทุกวัน และมีปัจจัยอย่างอื่นที่เข้ามาเป็นตัวตัดสินอีก ทั้งนี้ได้แก่จำนวนเตียง จำนวน ความพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์ช่วยชีวิตและที่สำคัญคือ บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้มีเพียงคุณพยาบาล แต่ต้องรวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เข้ามาเกี่ยวข้องไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาความสะอาด ของสถานที่และการบำรุงรักษาเครื่องมือ เจ้าหน้าที่ห้องฉุกเฉินและหน่วยกู้ชีพต่างๆ
จำนวนของผู้ป่วยโควิดที่เรียกว่าสีแดงและแดงวิกฤตมีจำนวนล้นหลาม และในระดับความรุนแรงเช่นนี้ ไม่ใช่มีปอดบวม หายใจลำบากอย่างเดียว แต่พร้อมกันนั้นจะกระทบระบบอวัยวะที่สำคัญอิ่นๆ เช่นหัวใจ ไต สมอง ทั้งนี้อาจจะเป็นผลโดยตรงของโควิดหรือเป็นผลกระทบติดตามต่อเนื่องจากการที่เกิดภาวะช็อกและอวัยวะล้มเหลวตามเป็นลูกโซ่
และจากการที่โควิดเองก่อให้เกิดความเสียหายไม่ใช่จากตัวไวรัสเองแต่ก่อให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรง จำเป็นต้องให้ยาต้านการอักเสบ ซึ่งแต่ละชนิดมีส่วนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและมีการติดเชื้อในโรงพยาบาลตามกันมาไม่ว่าจะเป็นแบคทีเรียหรือเชื้อราก็ตาม
ในสภาพของปอดล้มเหลวแม้มีเครื่องให้ออกซิเจนในอัตราการไหลสูงที่รู้จักกันในชื่อ ไฮโฟล เพื่อช่วยชีวิตและลดอัตราการใส่ท่อช่วยหายใจที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเต็มรูปแบบ แต่จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ และเกิดการทะลักล้นของผู้ป่วยในลักษณะนี้ ที่ต้องรอใส่ท่อ และในระหว่างนั้นระบบอวัยวะอื่นๆก็เริ่มมีปัญหามากขึ้น