- 03 ส.ค. 2564
อดีตรมว.คลังในรัฐบาลประยุทธ์ซัดไม่ยั้ง จัดสรรวัคซีนเหลวแหลก เห็นชัดๆว่าเอาไม่อยู่แล้วมีอภิสิทธิ์ชนเกิดขึ้นให้เห็นแบบไทย ๆ ชัดเจน จัดการโควิดบกพร่องตลอด
วันที่ 3 สิงหาคม 2564 นายสมหมาย ภาษี อดีต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันและปัญหาการบริหารว่า "โควิด-19" มาถึงจุดนี้ใครจะรับผิดชอบ
โดยนายสมหมายโพสต์ว่า ผมยกคำถามนี้มาถามตัวเองและถามคนที่เป็นห่วงประชาชนตาดำ ๆ ที่มีวิสัยทัศน์พอจะร่วมความรู้สึกกันได้เท่านั้น ไม่อยากถามนักการเมืองหรือพรรคการเมือง กระทรวงสาธารณสุข และศบค. ที่เป็นผู้ขยันทำงานหนักในการต่อสู้กับการระบาดของโรคร้ายนี้
การที่ปล่อยให้มีการระบาดจนประเทศมีอันดับการติดโรคเพิ่มสูงขึ้นทุกสัปดาห์จนมาอยู่อันดับที่ 42 ในขณะนี้ (วันที่ 2 สิงหาคม) จนกระทั่งถูกประจานจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กซึ่งเป็นสำนักข่าวระดับยักษ์ของโลกว่า การระบาดของโควิด-19 ของไทยมีอาการแย่มาก ๆ และจะมีผลกระทบทำให้เศรษฐกิจปีนี้ตกต่ำที่สุดในเอเชียนั้น ผู้บริหารประเทศได้เห็นอะไรที่บ่งบอกถึงหายนะแล้วหรือไม่
หรือว่ายังอยู่ในที่ดำมืดจนไม่รู้ว่าจะไปหาปากถ้ำกันทางไหน การได้รู้ได้เห็นสภาพจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศตอนนี้ ประชาชนได้เจอกับสถานการณ์ที่ได้เห็นชัดว่าจะเอาไม่ค่อยอยู่แล้ว เรามาดูเป็นเรื่อง ๆ กันหน่อยครับ
1. เรื่องการบริหารจัดการของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ก่อนเพราะตามที่ได้มีบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ไว้ชัดเจนว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย"
ถ้าจะถามว่ารัฐจัดการเรื่อง"โควิด-19" ได้แค่ไหนนั้น พบว่ามีแต่ความไม่เพียงพอและบกพร่องให้เห็นตลอด นับตั้งแต่สั่งวัคซีนมาไม่พอจนประเทศไทยต้องเป็นขอทานระดับโลกเหมือนประเทศด้อยพัฒนาระดับล่างไปแล้ว
เมื่อได้วัคซีนมาแล้วการจัดสรรเหลวแหลกสิ้นดี มีอภิสิทธิ์ชนเกิดขึ้นให้เห็นแบบไทย ๆ ชัดเจน มีศัพท์ใหม่ว่า "ถูกเท" เกิดขึ้นซึ่งประชาชนรู้จักกันดี การจัดสรรวัคซีนไม่โปร่งใสมีอาการลับ ๆ ล่อ ๆ จนกระทั่งมีการโต้เถียงกันใน ศบค. ระหว่างกระทรวงสาธารณสุขผู้จัดสรรกับกรุงเทพมหานครผู้รับการจัดสรรจนเป็นข่าวดังให้ประชาชนเห็น เป็นต้น
เรามักได้ยินข่าวที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขระดับอธิบดีบางคนชอบให้ข่าวลักษณะข่มขวัญประชาชนบ่อย ซึ่งเมื่อสองสามวันมานี้ก็ได้แถลงข่าวว่าถ้าประเทศไม่ทำการ"ล็อกดาวน์"จะมีการระบาดและล้มตายกันมากกว่าที่เห็นกันนี้ร่วมเท่าตัว
โดยหาได้สำเหนียกว่าที่ผ่านมาปีกว่าแล้วที่การระบาดของไทยอยู่ดี ๆ ต้องพุ่งกระฉูดจนฉุดไม่อยู่เช่นทุกวันนี้เป็นฝีมือของท่านเองแค่ไหน
หลายคนสงสัยว่าทำไมระดับผู้บริหารใหญ่ ๆ ในกระทรวงสาธารณสุขบริหารงานกันแย่แบบนี้ ยังอยู่ในตำแหน่งกันได้ถ้วนหน้า แต่คำตอบหาได้ไม่ยากหากฟังข่าวของโฆษกศบค. บ่อย ก็คงเข้าใจกันดีว่าตั้งแต่ท่านนายกรัฐมนตรี รองนายกที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรี ที่ปรึกษา และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบ มีการนั่งประชุมด้วยกันแทบทุกสัปดาห์ ดังนั้น ไก่ก็เห็นตีนงูและงูก็เห็นนมไก่ ใครจะกล้าไปปลดหรือย้ายใครได้
2. เรื่องการขาดแคลนเตียง และอุปกรณ์รักษาคนไข้ของโรงพยาบาล สำนักงบประมาณไม่เคยจัดสรรงบเพื่อการสาธารณสุขของประเทศให้เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอมาแต่ไหนแต่ไรแล้วเพราะเห็นว่าคนไทยใจบุญบริจาคทั้งเงินและอุปกรณ์มาช่วยแยะ จึงจัดเงินให้เท่าที่จำเป็น แล้วเอาเงินส่วนที่เกลี่ยออกมาได้แต่ละปีไม่ใช่จากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้นแต่จากกระทรวงอื่นด้วย ไปสนองผู้มีอำนาจเพื่อซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร
นอกจากนี้ยังต้องตั้งงบประมาณเพื่อไปจ่ายการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์แบบผ่อนส่งของกระทรวงกลาโหมปีหนึ่ง ๆ ถึง 4 - 5 หมื่นล้านบาท แต่งบแบบผ่อนส่งนี้ของกระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่มีแค่หลัก 7 – 8 พันล้านบาท อยากเห็นข้อเท็จจริงไปเปิดเอกสารงบประมาณโดยสังเขปตอนท้าย ๆ เล่มดูได้
นี่แหละที่นักการเมืองบางท่านถามว่า คนจะตายกันเยอะมากจาก โควิด-19 แล้วทำไมคณะกรรมาธิการแปรญัตติงบประมาณฝ่ายรัฐบาลถึงไม่ยอมตัดงบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ออกไป เมื่อเกิดการขาดแคลนเตียงและอุปกรณ์รักษาคนไข้ในโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งทั่วประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน กทม. จึงได้เห็นสิ่งที่ทำให้ต้องสลดหดหู่กับผู้ติดเชื้อโรคร้าย ได้เห็นคนป่วยไม่มีรถของโรงพยาบาลมารับตามที่ได้ติดต่อไป ได้เห็นคนป่วยที่มาเองแล้วโรงพยาบาลไม่รับรักษาแล้วไม่รู้จะไปที่ไหนจนต้องนอนคอยข้างสถานพยาบาลนั่นแหละ
ไม่ใช่เฉพาะแค่นี้ คนที่คิดว่าจะติดโรคร้ายเดินเข้าไปขอตรวจว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ก็ยังหาโรงพยาบาลที่รับตรวจยาก แม้กระทั่งโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ของเอกชนก็พากันปฏิเสธ โดยตั้งเงื่อนไขเปิดช่องไว้แค่ตรวจให้ผู้ที่ต้องการนำหลักฐานไปแสดงการเดินทางไปต่างประเทศเท่านั้น เป็นต้น
เมื่อได้สอบถามคนระดับบริหารโรงพยาบาล ก็ได้ทราบว่าเมื่อโรงพยาบาลไม่มีเตียงรับคนไข้ที่ตรวจแล้วเจอติดโรค โรงพยาบาลจะปฏิเสธการรับรักษาไม่ได้เพราะมีกฎหมายกำหนดไว้
การขาดแคลนเตียงและอุปกรณ์รักษาคนไข้ในขณะนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ แม้จะตั้งโรงพยาบาลสนามมากมายแล้วก็ยังไม่พอ ไม่พอแม้กระทั่งการตรวจคนที่คิดว่าน่าจะติดเชื้อ แล้วคนพวกนี้ก็ยังไปโน่นนี่ตามปกติ เป็นการเผยแพร่ให้โรคร้ายกระจายไปสู่ผู้บริสุทธิ์อีกไม่รู้จบ
การตรวจผู้ติดเชื้อที่บริหารโดยกระทรวงสาธารณสุขและกทม. ในเมืองหลวงทุกวันนี้จะเอาไม่อยู่แล้ว เพราะแหล่งสลัมและชุมชนแออัดใน กทม. มีมากมายอยู่แทบทุกพื้นที่
นอกจากนี้ยังมีคนไร้บ้านและเร่ร่อนอีกมาก ประชาชนเหล่านี้คนของรัฐบาลไม่ได้ใส่ใจการเข้าถึงตั้งแต่ต้น จึงเป็นแหล่งเพาะเชื้อและกระจายเชื้อไม่รู้จักหมด แต่ไทยยังถือว่าดีกว่าชาติอื่น เพราะเรามีพวกกลุ่มจิตอาสา และกลุ่มมูลนิธิเข้าไปช่วยดูแลจัดการเสริมภาครัฐให้เห็นอยู่มาก แต่ก็อย่าคิดว่าจะเอาอยู่
3. สาเหตุใหญ่ที่จะเอาไม่อยู่ ที่กล่าวมา 2 ข้อ ข้างต้น เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็เห็นกัน พูดกัน วิจารณ์กัน และส่ายหัวกันอย่างต่อเนื่องมานานพอควรแล้ว ตอนต้น ๆ แผลที่ดูแล้วไม่ใหญ่จนน่ากลัวนั้น นานวันเข้ากลับขยายตัวเหวอะหวะขึ้นไปเรื่อย อย่างนี้แหละที่ว่าจะเอาไม่อยู่
อย่างไรก็ดี ทางฝ่ายรัฐบาลที่รับผิดชอบก็ได้แสดงความสามารถแบบทุลักทุเลที่จะเอาให้อยู่ให้ได้ด้วยการนำมาตรการ“ล็อกดาวน์” มาใช้
ทั้งนี้ ตามประกาศฉบับที่ 27 และฉบับที่ 28 ที่ออกตามมาตรา 9 ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม เป็นต้นไป เบื้องต้นเริ่มจาก 10 จังหวัด รวมทั้ง กทม. ที่มีผู้ว่าการอดีตเป็นนายตำรวจใหญ่มาจากการแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมาได้ประกาศเพิ่มอีก 3 จังหวัด
เมื่อเย็นวันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม นี้ ก็ได้มีข่าวว่าจะทำการล็อกดาวน์เพิ่มอีก 16 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด และจะขยายเวลาการล็อกดาวน์ออกไปอีก 14 วัน จากวันที่ 3 – 16 สิงหาคม นี้ ท่านนายกรัฐมนตรีได้พูดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าอีก 2 – 4 สัปดาห์ สถานการณ์จะดีขึ้น ไม่ทราบว่าคนอื่นจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่ผมคนหนึ่งละที่ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ ยิ่งกว่านั้นกลางเดือนสิงหาคมนี้ พื้นที่ล็อกดาวน์อาจต้องถูกประกาศเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ดูเหมือนฝีมือของรัฐบาลพอมีแต่ยังมีกรรมหนักมาบัง เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผู้นำของรัฐบาลก็ได้ประกาศมาตรการฉบับที่ 29 ที่สื่อและนักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งมาตรการนี้ได้ก่อผลให้ศรัทธาที่เป็นแกนหลักของการให้ความร่วมมือของประชาชนกับรัฐบาลที่มีน้อยอยู่แล้วกลับแผ่วหนักลงไปอีก
ดังนั้น จึงมีกระแสต่อต้านจากสื่อและประชาชนแพร่กระจายไปทั่วทุกชนชั้นของสังคม เร็วกว่าการแพร่ระบาดของโรคร้ายที่รัฐบาลและประชาชนกำลังเผชิญอยู่ นี่แหละคือเหตุใหญ่ที่จะเอาไม่อยู่ นี่แหละคือสิ่งเลวร้ายที่รัฐบาลเผด็จการในอดีตเขาเคยทำกันให้ประชาชนเห็น ก่อนที่มีอันต้องหลุดพ้นวงโคจรไปในเวลาอันสั้น
ท่านนายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านคลิปวิดีโอเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม นี้ ว่าทุกวันนี้ทำงานหนักทุกวัน คิดว่าได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว ในการทำงานก็ได้พูดคุยและปรึกษาหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเราในช่วงนี้ อาจมองแล้วน่าตกใจ
แต่อยากให้สนใจตัวเลขต่าง ๆ ของเพื่อนบ้านและของต่างประเทศอื่นบ้าง ในช่วงนี้จากความเห็นทางสาธารณสุขและทางการแพทย์ มาตรการเดิมที่เราออกไปยังใช้ได้อยู่
จากสาระดังกล่าวข้างต้นที่สรุปมาจากความคิดเห็นของท่านผู้นำ ผมได้ฟังแล้วอดเป็นห่วงประชาชนคนไทยไม่ได้ เพราะการแก้ไขปัญหาโควิด- 19 ของไทยที่ผ่านมาทางรัฐบาลมีจุดอ่อนมาก และจุดที่คิดไม่ถึงหรือคาดไม่ถึงแต่ไม่ได้ตระหนักเกิดขึ้นมากมาย ไม่อย่างงั้นสถานการณ์ของประเทศคงไม่เลวร้ายจนจะเอาไม่อยู่ถึงขนาดนี้ แต่ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบ
ทำให้ผมอดคิดถึงตำนานการเล่นกอล์ฟของมือสมัครเล่นมากมาย ที่ใช้ไม้กอล์ฟชุดเดิมตีด้วยวงสวิงเดิม ๆ แต่ผลออกมาไม่เคยดี ซึ่งรู้กันว่าเป็น "การทำผิดพลาดซ้ำซาก" (Repeat the mistakes) ของนักกอล์ฟเองที่ไม่มีทางแก้ไขให้ดีได้เลย ควรหยุดเล่นได้แล้วครับ
ขอบคุณ Sommai Phasee - - สมหมาย ภาษี