- 05 ส.ค. 2564
5 สิงหาคม 2564 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด ชี้แจงข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ เรื่อง การบูรณาการความร่วมมือด้านการพัฒนาและคิดค้นสูตร “ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์”สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) ต้านเชื้อไวรัสสำหรับเด็ก และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ตำรับแรกในประเทศไทย
5 สิงหาคม 2564 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด ชี้แจงข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ เรื่อง การบูรณาการความร่วมมือด้านการพัฒนาและคิดค้นสูตร “ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) ต้านเชื้อไวรัสสำหรับเด็ก และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ตำรับแรกในประเทศไทย
โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และพลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร. วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร. บดินทร์ ติวสุวรรณ และเภสัชกรหญิง พร้อมพร จำนงธนาโชติ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด พร้อมทั้งรับฟังแนวทางการใช้ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ต้านไวรัสในผู้ป่วยเด็ก โดย แพทย์หญิงศรัยอร ธงอินเนตร และ แพทย์หญิงครองขวัญ เนียมสอน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมชี้แจงข้อมูล ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ถนนแจ้งวัฒนะ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมากขึ้น โดยผู้ติดเชื้อในเด็กมีปริมาณค่อนข้างสูง ในขณะที่วัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อในเด็กยังไม่ได้รับการรับรองเป็นที่ชัดเจนและกว้างขวาง ทำให้เด็กได้รับเชื้อค่อนข้างเยอะ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ถึงแม้ว่าเราจะได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังพบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในระยะหนึ่ง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่จะป้องกันไม่ให้คนที่ได้รับเชื้อมีอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลและหรือเข้าหออภิบาลผู้ป่วยหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือเสียชีวิต คือ การได้รับยารักษาโดยเร็ว ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่ได้การรับรองและพิสูจน์แล้วว่ามีการใช้ได้ผลในการรักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นมีการใช้กันมานานแล้ว และในตอนที่มีการระบาดของเชื้ออีโบล่าก็ได้มีการนำไปใช้เช่นเดียวกันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และในขณะนี้การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็มีรายงานเบื้องต้นว่า ถ้าได้ยาเร็วภายใน 4 วันหลังเริ่มมีอาการ ก็จะสามารถลดอาการหนักของผู้ป่วยในการเข้าโรงพยาบาลและลดการเสียชีวิตได้ด้วย
ด้วยศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวาควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทรงมีความห่วงใยและทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิดโดยตลอดมา พร้อมทั้งพระราชทานความช่วยเหลือด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะสามารถเข้าถึงยารักษาโรคฟาวิพิราเวียร์ได้อย่างรวดเร็ว โดยทรงเป็นห่วงประชาชนและเด็กเล็ก เพื่อสนองพระนโยบายดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการพัฒนาและคิดค้นสูตร“ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) เพื่อต้านเชื้อไวรัสสำหรับเด็ก และผู้ป่วยที่มีความลำบากในการกลืนยาเม็ด ตำรับแรกในประเทศไทย"
สำหรับ “ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์” เป็นความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างงานเภสัชกรรมฯ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด ที่ได้ร่วมกันพัฒนาและคิดค้นสูตรตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ สำหรับผลิตในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ (Hospital preparation) ซึ่งถือเป็นตำรับยาน้ำเชื่อมต้านไวรัส ตำรับแรกของประเทศไทย เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส โดยปกติตัวยานี้มีไว้สำหรับการรักษาไข้หวัดใหญ่แต่มีการรายงานเบื้องต้นว่าสามารถช่วยลดอาการป่วยรุนแรงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้ยาเร็วในระยะเริ่มต้นของอาการ ยาชนิดน้ำเชื่อมนี้ทำไว้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยเด็ก รวมถึงผู้ป่วยที่มีความยากลำบากในการกลืนยาเม็ด โดยมุ่งหวังเพื่อช่วยเหลือประเทศไทยให้สามารถผลิตยาให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมได้และพบการติดเชื้อในเด็กเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ตำรับยานี้ได้มีการพัฒนาคัดเลือกและควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบตัวยาสำคัญ ตลอดจนมีการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาตามมาตรฐานสากล ด้วยวิธีการที่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องและการศึกษาความคงสภาพ เพื่อยืนยันคุณภาพตลอดช่วงอายุการใช้งาน
โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร. บดินทร์ ติวสุวรรณ เภสัชกรหญิง พร้อมพร จำนงธนาโชติ และรองศาสตราจารย์ เภสัชกร ดร. วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ทีมจากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท เมดิกา อินโนวา จำกัด กล่าวถึงรายละเอียดในการพัฒนาตำรับยานี้ว่า ยาสูตรน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กเล็กและผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านการกลืน หรือผู้ป่วยที่ให้อาหารทางสายยางเพื่อให้เข้าถึงตัวยานี้ได้ โดยการพัฒนาตำรับยานี้มีกระบวนการค่อนข้างท้าทายในระดับหนึ่ง เนื่องจากด้วยตัวยาสำคัญและองค์ประกอบต่างๆ ค่อนข้างมีความยากลำบากในการพัฒนาเป็นสูตรน้ำเชื่อมเพราะยามีการละลายที่ไม่ค่อยดี จึงเห็นได้ว่าการรับประทานยาครั้งหนึ่งในการรักษาต้องใช้ยาในปริมาณมาก ซึ่งอาจจะไม่ได้เหมาะสมกับผู้ป่วยทุกราย โดยแพทย์ผู้ทำการรักษาจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้ ด้านการผลิตทีมงานได้คัดเลือกและควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบ ตลอดจนควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ยาตามมาตรฐานสากล รวมถึงมีการตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการผลิตยาในโรงพยาบาล (Hospital preparation) ทั้งนี้ ตัวยาสามารถใช้งานตามระยะเวลา 30 วัน เก็บไว้ในอุณหภูมิ 30 องศา(หรืออุณหภูมิห้อง) โดยถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในสภาวะฉุกเฉิน
ด้านแพทย์หญิงศรัยอร ธงอินเนตร และแพทย์หญิงครองขวัญ เนียมสอน ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้ให้ข้อมูลแนวทางการใช้ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ต้านไวรัสในผู้ป่วยเด็ก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาต้านไวรัสว่าเป็นหัวใจสำคัญในการลดการแพร่กระจายและลดความรุนแรงของโรค จะเห็นว่ายาฟาวิฟิราเวียร์มีการเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2014 ในญี่ปุ่นเพื่อรักษาโรคไข้หวัดใหญ่และประกาศในองค์การอนามัยโรคในการรักษาโรคอีโบล่า และในปี 2020 ได้มีการใช้ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยในการรักษาโรคโควิด-19 ในปัจจุบันมีเด็กติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และมีอัตราการเกิดปอดติดเชื้อหรือเชื้อโควิด-19 ลงปอดเพิ่มมากขึ้น จากเดิม 50% เพิ่มขึ้นเป็น 80% -90% จากการติดตามการรักษา อย่างไรก็ตาม ในเด็กจะมีอาการเบากว่าผู้ใหญ่ คือ ยังมีสุขภาวะที่ดีและยังไม่ต้องการออกซิเจน ด้วยยังคงระดับออกซิเจนในเลือดได้เกิน 95-96% ในส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ยาทุกตัวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับยาเม็ดบดละลายน้ำ จะมีข้อดีคือสามารถบดละลายน้ำในปริมาณน้อยได้ แต่มีข้อเสีย คือ ยามีตะกอน อาจได้ปริมาณยาไม่แน่นอน และมีรสชาติขม ส่วนยาน้ำ มีข้อดีคือ พร้อมใช้งานและมีปริมาณยาคงที่ ส่วนข้อเสียคือ มีปริมาตรยามากกว่ายาน้ำทั่วไป
สำหรับ คุณลักษณะ ขนาดและวิธีการใช้ตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิฟิราเวียร์ ต้านเชื้อไวรัส โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นยาน้ำเชื่อมปราศจากน้ำตาล ลักษณะเป็นยาน้ำใส สีส้ม รสราสเบอรี่ มี 2 ขนาด คือ ขนาด 800 มิลลิกรัมใน 60 มิลลิลิตร และขนาด 1,800 มิลลิกรัมใน 135 มิลลิลิตร โดยให้รับประทานยาขณะท้องว่าง วันละ 2 ครั้ง ห่างกันทุก 12 ชั่วโมง ขนาดและวิธีการใช้ยาในเด็ก วันแรก รับประทานขนาด 70 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง และวันต่อมา ขนาด 35 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง แนะนำการให้ยาในเด็ก 5 วัน ทั้งนี้ ความปลอดภัยในการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในเด็กเล็ก สามารถใช้ในเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 10 ปีทั้งนี้ ได้มีการใช้จริงในคนไข้เด็กจำนวนหนึ่งในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และมีการติดตามสังเกตอย่างใกล้ชิดเปรียบเทียบกับการใช้ยาเม็ดบดละลายน้ำ โดยได้ให้กับเด็กอายุช่วง 8 เดือน ถึง 5 ปี จำนวน 12 ราย ติดตามการรักษาพบว่าการตอบสนองต่อการรักษาเป็นไปได้ด้วยดีไม่พบผลข้างเคียงร้ายแรง โดยเด็กสามารถกินยาได้ดี
สำหรับขนาดและวิธีการใช้ยาในผู้ใหญ่ วันแรกรับประทาน ขนาด 1,800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง และวันต่อมาขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง กรณีน้ำหนักตัวมากกว่า 90 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กก/ตรม. วันแรก รับประทาน ขนาด 2,400 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง และวันต่อมา ขนาด 1,000 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
ด้าน พลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้กล่าวถึงแนวทางขอรับยาน้ำเชื่อมฟาวิฟิราเวียร์ว่า กรณีที่แพทย์มีความประสงค์จะใช้ยานี้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก หรือผู้สูงอายุที่ให้อาหารทางสาย หรือมีความลำบากในการกลืนยาเม็ดที่มีผลการตรวจ RT- PCR ยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 หรือในรายผู้ที่แพทย์เห็นสมควรจากประวัติสัมผัสและผลตรวจ Rapid Antigen Test เป็นบวก สามารถส่งข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อขอรับยาได้ผ่านทางเว็บไซต์ https://favipiravir.cra.ac.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ด้วยการสนับสนุนจากมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้นตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นของอาการอย่างรวดเร็ว และสามารถช่วยลดอาการป่วยรุนแรงของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทั้งนี้ ท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการให้เพื่อก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน ร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อต้านภัยโควิดกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ที่ บัญชีธนาคารทหารไทยธนชาติ ชื่อบัญชี มูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ เลขที่บัญชี 236-1-00491-0
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ย้ำถึงความสำคัญของตำรับยาน้ำเชื่อมฟาวิฟิราเวียร์นี้ว่า ยานี้เป็นยาที่ต้องสั่งโดยแพทย์เท่านั้น และแพทย์จะต้องติดตามผลอย่างเป็นระบบ ด้วยตัวยามีอายุจำกัดเพียง 30 วัน การเก็บยาให้เก็บในอุณหภูมิ 30 องศา (อุณหภูมิห้อง) ปริมาตรของการใช้ยาซึ่งใช้ในปริมาตรที่มากโดยเฉพาะการใช้ยาในวันแรก และด้วยข้อจำกัดด้านการผลิตที่ยังไม่มากพอ โดยปัจจุบันโรงพยาบาลจุฬาภรณ์สามารถผลิตยาน้ำได้จำกัดเพียง 300 รายต่อสัปดาห์ หากโรงพยาบาลที่สนใจจะนำตำรับยาไปผลิตในโรงพยาบาล ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีความยินดีและพร้อมเข้าไปช่วยควบคุมดูแลมาตรฐานด้วย เนื่องจากเราต้องการผลิตยาให้ได้อย่างรวดเร็ว และมีการกระจายอย่างกว้างขวางและทั่วถึง