- 08 ส.ค. 2564
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) แจ้งเตือนนายจ้าง ห้ามหักเงินเยียวยา ม.33 จากเงินเดือนลูกจ้าง ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
จากกรณีที่ชาวเน็ตรายหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกจ้าง ม.33 ได้เข้ามาสอบถามในเพจของประกันสังคม ว่าเธอโดนนายจ้างแจ้งว่า ถ้าได้รับเงินเยียวยา 2,500 บาทแล้ว ให้แจ้งด้วย เนื่องจากเป็นเงินที่รัฐบาลช่วยนายจ้างจ่ายเงินเดือนพนักงาน เงินเดือนจะถูกหักไป 2,500 บาท ซึ่งตัวเธอเองก็อยากรู้ข้อเท็จจริงว่านายจ้างเข้าข่ายโกงเงินเธอหรือไม่นั้น
ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) จึงได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า นายจ้างหักเงินเยียวยาที่ลูกจ้างได้รับสิทธิกรณีเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จากเงินเดือน จนเป็นเหตุให้ลูกจ้างขาดรายได้ที่ควรได้รับ จำนวน 2,500 บาท เคสนี้นายจ้างเข้าข่ายละเมิดสิทธิ ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
โดย นางโสภา เกียรตินิรชา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า สถานประกอบกิจการแห่งหนึ่งแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าเมื่อลูกจ้างได้รับเงินเยียวยาของรัฐบาล ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้จ่ายเงินเยียวยาให้กับลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สำหรับ 9 กลุ่มกิจการ เฉพาะจังหวัดที่กำหนด โดยลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินเยียวยา จำนวน 2,500 บาทนั้น นายจ้างจะหักเงินจำนวนดังกล่าวออกจากเงินเดือน โดยอ้างว่ารัฐบาลช่วยจ่ายเงินเดือนให้แล้ว
ซึ่งในกรณีนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้แสดงความกังวลและห่วงใยลูกจ้างอาจไม่ได้รับสิทธิตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการเยียวยาผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จึงเน้นย้ำว่าการกระทำดังกล่าวของนายจ้างถือเป็นการละเมิดสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้รับ จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตรวจสอบพร้อมชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งกรมขอชี้แจงว่า กรณีเงินเยียวยาที่รัฐบาลจ่ายให้กับผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 คนละ 2,500 บาท เป็นเงินเยียวยาที่รัฐบาลจ่ายให้แก่ลูกจ้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ลูกจ้าง
ส่วนเงินค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในแต่ละเดือนเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานให้กับลูกจ้างที่ทำงานให้ ดังนั้นนายจ้างไม่สามารถนำเงินเยียวยา ตามมาตรา 33 ที่ลูกจ้างได้รับมาหักจากค่าจ้างได้ การหักค่าจ้างเช่นนี้ ถือเป็นการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงขอเตือนนายจ้างที่คิดจะหักค่าจ้างลูกจ้างที่ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล ไม่ว่าลูกจ้างจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม หากฝ่าฝืนมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ