- 10 ส.ค. 2564
ทอ.แจงดราม่าใช้เครื่องบินรบขนมังคุด-ลำไยลงใต้ด้วย งบ 400,000 ชี้ เป็นชั่วโมงฝึกบินเครื่องบิน SAAB 340 อยู่แล้ว ไม่ได้ทำให้งบประมาณค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
จากกรณีเพจมิตรสหายท่านหนึ่ง ตั้งข้อสงสัยถึงประเด็นที่กองทัพอากาศใช้ค่าทำการบินของ SAAB340 ประมาณชั่วโมงละ 100,000 บาท เพื่อขนส่งลำไยกับมังคุด รวม 4 ตัน มูลค่าไม่เกิน 150,000 บาท จากสุราษฎร์ธานีไปเชียงใหม่ ระยะทางไป - กลับราว ๆ 2,000 กิโลเมตร
โดยเครื่องบิน SAAB340 บินได้ประมาณ 524 กิโลเมตร/ชั่วโมง ใช้เวลารวมประมาณ 4 ชั่วโมง เท่ากับใช้จ่ายไป 400,000 บาท หรืออาจต่ำกว่านี้ประมาณ 100,000 แต่อย่างน้อยก็ 200,000 - 300,000 บาท ซึ่งนี่คือค่าขนส่งโดยประมาณ ดังนั้น หากใช้เครื่องบินรบขนมังคุดและลำไย 4 ตัน มูลค่า 150,000 บาท บวกกับต้นทุนการขนอีกอย่างน้อย 200,000 บาท และอาจจะสูงถึง 400,000 บาท เกรงว่ามังคุดและลำไยล็อตนี้ น่าจะไม่คุ้มค่า เพราะแค่ค่าขนก็ท่วมต้นทุนแล้ว
ล่าสุดเฟซบุ๊ก Wassana Nanuam เผยแพร่คำชี้แจงจากพลอากาศโท ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศถึงกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ระบุ
โฆษกทอ. ชี้แจง ใช้ชั่วโมงฝึกบินเครื่องบิน SAAB 340 ลำเลียงมังคุด-ลำไยช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นักบินต้อง ทำการบินฝึกอยู่แล้วไม่ได้ทำให้งบประมาณค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
พื้นที่บนเครื่องว่างพอ ชี้ เป็นการได้ประโยชน์ ไม่ปล่อยให้บินไปเสียเที่ยว
พลอากาศโท ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ ในฐานะโฆษกกองทัพอากาศ เปิดเผยว่า กรณีมีผู้โพสต์ข้อความว่า "ไม่เห็นด้วยกับกองทัพอากาศที่เอาเครื่องบิน SAAB 340 บินขนมังคุดจากสุราษฎร์ธานี ไปแลกเปลี่ยนกับลำไยที่เชียงใหม่และลำพูน เป็นการใช้ทรัพย์สินที่ผิดประเภทและไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่าย" นั้น
ขอชี้แจงว่า กองทัพอากาศมีแผนการฝึกเดินทางระหว่างสนามบิน ในแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของนักบินและเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นตารางปฏิบัติปกติ
ดังนั้น การช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ควบคู่ไปกับการฝึกบิน จึงถือเป็นการได้ประโยชน์และไม่ได้ทำให้งบประมาณค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และไม่ใช่เป็นการจัดเที่ยวบินเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพราะนักบินต้องฝึกบินเดินทางอยู่แล้ว
ประกอบกับแต่ละเที่ยวบินมีพื้นที่ว่างพอ สำหรับการบรรทุกสิ่งของ จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ร่วมกับภารกิจการช่วยลำเลียงผลิตทางการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรในการระบายสินค้าไปยังพื้นที่ปลายทาง
ทั้งนี้ พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ มีนโยบายให้กองทัพอากาศนำขีดความสามารถและศักยภาพที่มีอยู่ บูรณาการทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤติ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างเต็มกำลังความสามารถ
จากกองทัพอากาศ