- 17 ส.ค. 2564
นักเขียนดังสับแหลก โวยข้อมูลศบค.ล้าหลัง ไม่เปิดเผยความจริงที่ปชช.ต้องรู้ ยัดเยียดข้อมูลเก่า ยังภูมิใจอัตราเสียชีวิตจากโควิดยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก
แน่นอนว่าโรคโควิด 19 ไม่ได้แพร่ระบาดแค่ในประเทศไทยที่เดียว ซึ่งมันเป็นโรคระบาดที่ทั่วโลกต้องรับมือกับมันให้ได้ ซึ่งกว่าแต่ละประเทศจะสามารถควบคุมได้นั้นต้องแลกมากับการเสียชีวิตของพลเมืองในประเทศ แต่นั่นคือบทเรียนสำคัญว่า จากนี้ต่อไปเมื่อมีวัคซีนที่สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้แล้วเรื่องดังกล่าวต้องไม่เกิดขึ้นอีก
ทว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดในประเทศไทยล่าสุดยังคงมีผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 20,128 ราย เสียชีวิตเพิ่มอีก 239 ราย จนล่าสุดมีผู้ป่วยสะสมแตะ 1 ล้านรายแล้ว
เกี่ยวกับเรื่องนี้ น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน นักแปลชื่อดัง ได้โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้จนกลายเป็นอีกประเด็นที่ชาวเน็ตให้ความสนใจว่า "อยากเห็นสื่อมวลชนทั้งหลายเลิกเผยแพร่ความเข้าใจผิดที่รัฐบาลสร้างจากการใช้ตัวเลขในทางที่ผิดได้แล้วนะคะ เวลารายงานสิ่งที่ สธ. ศบค. ฯลฯ พูด รายงานแต่ตัวเลขจริงประจำวัน เช่น จำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต ฯลฯ ก็พอ
ไม่จำเป็นต้องรายงานการตีความตัวเลขที่ทำให้คนเข้าใจผิดด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 64 สธ. แถลงว่า "อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ของไทย ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก" แล้วสื่อก็พร้อมใจกันพาดหัวแบบนี้ตาม สธ. เป็นนกแก้วนกขุนทอง เช่น สื่อเจ้าดังรายหนึ่ง ทั้งที่ในความเป็นจริง คำพูดนี้ถูกต้องก็ต่อเมื่อเทียบกับ ***ค่าเฉลี่ยสะสม ตั้งแต่โลกเริ่มเจอโรคนี้เมื่อเดือน ม.ค. ปี 2563 นานนับปีก่อนมีวัควีน*** เท่านั้น
ซึ่งการเปรียบเทียบแบบสะสมตั้งแต่ปีมะโว้นี้ ไม่มีใครเขาทำกัน เพราะทำให้ไม่เห็นภาพ "สถานการณ์ที่แท้จริง ณ ปัจจุบัน" (เหมือนกับสมมติมีคนพูดว่า "จีดีพีเรายังเติบโตดีกว่าค่าเฉลี่ยโลก" โดยเอาจีดีพีตลอด 20 ปีมาเทียบ แทนที่จะเอาข้อมูลไตรมาสล่าสุดมาเทียบ คำพูดนี้ต่อให้จริง ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรเลย เพราะเราสนใจการเติบโต "ปัจจุบัน" มากกว่า)
ดังนั้น ถ้าจะเทียบสถิติช่วงโควิด-19 ที่จะบอกเราเรื่อง "สถานการณ์ปัจจุบัน" เทียบกับ "ต่างประเทศ" ได้ ไม่ว่าจะ เป็น อัตราการป่วย อัตราการเสียชีวิต อัตราการฉีดวัคซีน หรือสถิติอะไรก็ตาม ทั้งหมดนั้นควรเทียบ 1) ต่อจำนวนประชากร (เพราะประเทศเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน) และ 2) ใช้ค่าเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง (7-day rolling average) เพื่อฉายภาพ "แนวโน้ม" ล่าสุด (ถ้าใช้ตัวเลขประจำวันล่าสุดจะไม่เห็นแนวโน้ม) ไม่ใช่ใช้ **ค่าสะสม** ตั้งแต่ปีมะโว้ แบบที่ สธ. ทำค่ะ
ภาพประกอบนี้แสดงอัตราการเสียชีวิตยืนยันจากโควิด-19 (คือยังไม่รวมอัตราการเสียชีวิตเกินปกติหรือ excess mortality ที่ของไทยก็สูงมากๆ) ต่อประชากร 1 ล้านคน โดยใช้ค่าเฉลี่ย 7 วันย้อนหลัง ของ ไทย เทียบกับโลก และทวีปเอเชีย ตั้งแต่ 1 ม.ค. 64 ถึง 14 ส.ค. 64 จะเห็นว่าประโยค "อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ของไทย ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก" ที่ สธ. อ้าง ไม่เป็นความจริงแล้ว
ถ้าดู "สถานการณ์ปัจจุบัน" จริงๆ ไม่ใช่ตัวเลขสะสมตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว (ซึ่งถ้าใช้ตัวเลข "สะสม" ก็ไม่ควรใช้คำว่า "สถานการณ์" เลย ผิดฝาผิดตัวมาก) -- ความจริงคือ อัตราการเสียชีวิตต่อประชากรย้อนหลัง 7 วันของไทยวันนี้ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกกว่าสองเท่า และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทวีปเอเชียราว 2.6 เท่า จะเขียนอธิบายเรื่องการใช้สถิติในทางที่ผิด 5-6 ตัวอย่าง และการประเมินสถานการณ์ "ที่แท้จริง" ลงคอลัมน์ตอนหน้าค่ะ #เฮ่อ #มหากาพย์การสื่อสารบิดเบือน นี่อันตรายไม่แพ้ #มหากาพย์วัคซีน เลย"
อย่างไรก็ตาม ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. มักจะให้แถลงข้อมูลถึงสถานการณ์ทั่วโลกอีกด้วยก่อนที่จะรายงานความคืบหน้าในประเทศไทย ซึ่งบ่อยครั้งจะนำข้อมูลมาเสนอว่า ที่ต่างประเทศมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่มากกว่าประเทศไทย ซึ่งถ้าคิดเป็นค่าเฉลี่ยแล้วที่ประเทศไทยยังถือเป็นตัวเลขที่ต่ำ