- 18 ส.ค. 2564
เปิดประวัติปราสาทพนมรุ้งดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ หลังนักท่องเที่ยวแอบเก็บดินกลับบ้าน ก่อนรีบส่งคืนทันที
สืบเนื่องจากกรณีที่ เพจเฟซบุ๊ก อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ Phanom Rung Historical Park ได้มีการโพสต์ข้อความระบุไว้ว่า วันที่ 16 สิงหาคม 2564 อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ได้รับไปรษณีย์จากประชาชนท่านหนึ่ง ซึ่งมีกระปุกบรรจุดินพร้อมข้อความฝากนำมาส่งคืน ณ ปราสาทพนมรุ้ง ในการนี้เจ้าหน้าที่ได้นำดินกลับไปไว้คืนบนปราสาทเรียบร้อยแล้วนะครับ #โบราณสถานเป็นของทุกท่านโปรดช่วยกันดูแลรักษา #ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวไม่หยิบจับหรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดออกไปจากโบราณสถาน #พนมรุ้งดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ “
วันนี้ทางทีมงานจึงได้นำข้อมูลและประวัติบางส่วนของอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง มาให้ได้อ่านกัน
อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นหนึ่งในปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 (บ้านดอนหนองแหน) ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ (ประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) คำว่า พนมรุ้ง นั้น มาจากภาษาเขมร คำว่า วนํรุง แปลว่า ภูเขาใหญ่
ปัจจุบัน ปราสาทหินพนมรุ้งกำลังอยู่ในเกณฑ์กำลังพิจารณาเป็นมรดกโลก เช่นเดียวกับ ปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นหนึ่งในปราสาทหินขอมของไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ และถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงเป็นภาพพื้นหลังตราสัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดอีกด้วย
ประวัติปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นโบสถ์พราหมณ์ลัทธิไศวะ มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขะแมร์ได้หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นวัดมหายาน ในช่วงแรกปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้งสูง 1,320 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ชื่อพนมรุ้งแปลว่าภูเขาใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15-18
จารึกต่าง ๆ ที่นักวิชาการได้อ่านและแปลพอจะสรุปได้ว่า พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 กษัตริย์แห่งพระนคร (พ.ศ. 1487-1511) ได้สถาปนาเทวสถานถวายพระศิวะที่เขาพนมรุ้ง ซึ่งในสมัยแรก ๆ คงยังไม่ใหญ่โตนัก ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ. 1511-1544) ได้ทรงอุทิศที่ดินและข้าทาสถวายแด่เทวสถานพนมรุ้ง ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 นเรนทราทิตย์ เจ้านายแห่งราชวงศ์มหิธรปุระที่ปกครองดินแดนแถบนี้ (ซึ่งเป็นต้นตระกูลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด) ได้สร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นและได้ทรงบำเพ็ญพรตเป็นโยคี ณ ปราสาทพนมรุ้ง
ข้อมูลจาก เพจ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ Phanom Rung Historical Park / วิกิพีเดีย