- 19 ส.ค. 2564
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความสถานการณ์โควิด-19ทั่วโลกและในประเทศไทย ระบุว่า
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความสถานการณ์โควิด-19ทั่วโลกและในประเทศไทย ระบุว่า
...วิเคราะห์สถานการณ์ของไทย
เมื่อวานทำสถิติเป็น "Triple Top Ten"
จำนวนติดเชื้อใหม่เมื่อวานนี้สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก (แต่หากรวม ATK อีก 7,210 คนด้วย จะเลื่อนไปอยู่อันดับ 7 ของโลก)
ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตสูงถึง 312 คน มากเป็นอันดับ 9 ของโลกเช่นกัน
และจำนวนผู้ป่วยรุนแรงและวิกฤติ สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก
อีกสองวันไทยจะมียอดติดเชื้อสะสมทะลุล้านคน และจะแซงโปรตุเกสวันถัดไป
สถานการณ์การระบาดรุนแรง กระจายไปทั่ว และยังไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ด้วยมาตรการที่มีอยู่
ทางการแพทย์นั้นเรามีหลักวิชาการควบคุมป้องกันโรคที่เป็นที่ยอมรับกันระดับสากลอยู่แล้ว และหากนำมาใช้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก็จะสามารถควบคุมโรค ป้องกันโรค และทำให้เกิดสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต
"หลักการ" ไม่ใช่ "แนวคิด"
หากนโยบายและมาตรการต่างๆ ระดับประเทศ ใช้ความรู้และหลักการในการทำให้ประชาชนได้เข้าใจ และนำไปใช้ตัดสินใจประพฤติปฏิบัติ
สิ่งที่ประชาชนควรทำในสถานการณ์ปัจจุบัน ได้แก่
1. "ปรับทัศนคติ"ตัวเราเองให้มีความระแวดระวังป้องกันตัวเสมอ ทั้งในเวลาทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวัน แม้แต่การใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน เพราะขณะนี้ระบาดกันแบบจับต้นชนปลายหาแหล่งที่มาได้ยาก ความเสี่ยงจึงกระจายไปทั่ว เจอได้เสมอโดยอาจไม่รู้ตัว
เราเรียกหลักการนี้ว่า "Universal precaution"
2. "กำจัดความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น" เรื่องนี้ไม่มีทางทำได้แล้วในสังคม เพราะภาวะระบาดกระจายไปทั่วในปัจจุบัน แต่ในระดับครัวเรือน และที่ทำงานยังพอเป็นไปได้
กล่าวคือ อยู่กับบ้าน ทำงานที่บ้าน อยู่นิ่งๆ อย่างไรก็ตามคนที่จะทำเช่นนี้ได้มีไม่มากนัก
หลักการนี้คือ "Primordial prevention" เป็นหลักการที่มุ่งเน้นในการกำจัดความเสี่ยง ไม่ให้เกิดขึ้นในสังคม
3. "ป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ หากจำเป็นต้องเจอความเสี่ยง"
ทำได้โดยการได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง การใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า การเจอคนให้น้อยๆ ระยะเวลาสั้นๆ และอยู่ห่างๆ กัน
ในที่ทำงาน ควรใส่หน้ากากเสมอ ระมัดระวังไม่กินข้าวร่วมกัน ใช้สุขาโดยใส่หน้ากากเสมอ ปิดฝาก่อนกดชักโครก ล้างมือทุกครั้ง และจัดระบบงานให้มีการเจอกันหรือสัมผัสใกล้กันให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
การเดินทางไปไหนมาไหน ควรพกสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัว ล้างมือหลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ ไปซื้อของใช้ต่างๆ ควรมีถุงส่วนตัว และทำความสะอาดหรือพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์สิ่งของเหล่านั้นด้วยตอนนำกลับมาบ้าน
หลักการนี้คือ "Primary prevention" ซึ่งเป็นหลักการที่มุ่งป้องกันไม่ให้คนปกติไปสัมผัสกับเชื้อโรคหรือความเสี่ยงที่มีอยู่ในสังคม
4. "หมั่นตรวจสอบตนเองและคนใกล้ชิด หากสงสัยหรือเจ็บป่วย ต้องรีบตรวจ แยกให้ห่างจากคนอื่น และรีบไปรักษา"
ในที่ทำงาน สิ่งที่ควรทำคือ การคัดกรองทั้งประวัติเสี่ยงประจำวัน วัดอุณหภูมิ และทำการตรวจคัดกรองโรคในบุคลากรทุกคนอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์
หากใช้ชีวิตในบ้าน การไถ่ถามสมาชิกในบ้านอย่างสม่ำเสมอจะช่วยได้ เตรียมสถานที่ในบ้าน เตรียมข้าวของเครื่องใช้ในบ้านรวมถึงยาสามัญประจำบ้าน และชุดตรวจคัดกรองโรคที่ใช้เองได้เบื้องต้น จัดแผนเอาไว้หากมีใครไม่สบายจะใช้ชีวิต กักตัว อย่างไรไม่ให้เกิดการติดเชื้อแพร่เชื้อ
หลักการนี้คือ "Secondary prevention" ซึ่งเป็นหลักการเพื่อรีบตรวจให้เจอโรคโดยเร็ว และนำส่งเข้าสู่ระบบการดูแลรักษา เพื่อตัดวงจรของโรคและจะได้ไม่ป่วยหนัก
5. "เตรียมใจและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการป่วยเป็นโรคโควิด-19"
เรื่องนี้สำคัญ เพราะการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 นั้น แม้จะดูแลรักษาหายแล้ว ก็อาจเกิดอาการคงค้างระยะยาว ทั้งอาการเล็กน้อย เช่น อ่อนเพลีย คิดอะไรไม่ค่อยออก ปัญหาด้านความจำ ตลอดจนอาการรุนแรงทางระบบประสาท และหัวใจและหลอดเลือด ที่เราเรียกว่า "Long COVID" โดยพบได้ราวร้อยละ 30-40
ดังนั้นการเตรียมตัวเตรียมใจให้มีความพร้อมที่จะรับมือกับภาวะดังกล่าว ทั้งตัวผู้ติดเชื้อเอง หรือแม้แต่สมาชิกในครอบครัว รวมถึงนายจ้างและเพื่อนร่วมงาน เพื่อที่จะได้เข้าใจกันและกัน และช่วยเหลือประคับประคองกัน
หลักการนี้คือ "Tertiary prevention" ที่เป็นหลักการสำหรับการฟื้นฟูสภาพหลังเจ็บป่วย
ที่เล่ามาทั้งหมดนั้นคือ หลักการจากวิชาการแพทย์ ที่นำไปใช้ในทางปฏิบัติได้จริง และเป็นประโยชน์สำหรับประชาชน
ด้วยรักและห่วงใย