- 21 ส.ค. 2564
เปิดผลวิจัย ระดับภูมิคุ้มกัน หลังฉีดวัคซีนไขว้ ซิโนแวค-แอสตร้าเซเนก้า ล่าสุดภูมิพุ่งกระฉูด
จากกรณี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า งานวิจัยของการฉีดวัคซีนแบบสลับ (Mix and Match) จากการตรวจภูมิคุ้มกันแบบภาพรวม รวมถึงการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 แบบ heterologous prime-boost ซึ่งร่วมกับศิริราชพยาบาล โดยใช้ไวรัสสายพันธุ์จริงที่กำลังระบาดในประเทศไทย คือ สายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) ทำการทดสอบโดยวิธีมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วไปคือวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT)
โดยผลการศึกษานี้ทำการศึกษาในอาสาสมัคร 6 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 ที่ได้รับวัคซีน CoronaVac 2 เข็ม (SV+SV)
กลุ่มที่ 2 ได้รับ วัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม (AZ+AZ)
กลุ่มที่ 3 ได้รับ วัคซีน CoronaVac และตามด้วย AstraZeneca (SV+AZ)
กลุ่มที่ 4 ได้รับ วัคซีน AstraZeneca และตามด้วย CoronaVac (AZ+SV)
กลุ่มที่ 5 ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็มและตามด้วย Covilo 1 เข็ม (SV+SV+Sinopharm)
กลุ่มที่ 6 ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็มและตามด้วย AstraZeneca 1 เข็ม (SV+SV+AZ)
ทั้งนี้ เพื่อหาค่าที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาถูกทำลาย 50% (Neutralizing Titer 50%, NT50) โดยแอนติบอดีที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน พบว่าระดับภูมิคุ้มกันในกลุ่มต่างๆ หลังการได้รับวัคซีนครบโดส 2 สัปดาห์ ต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา มีค่าเฉลี่ยระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถลบล้างฤทธิ์ไวรัส พบว่า การให้วัคซีนสลับแบบ ซิโนแวค + แอสตร้าเซเนก้า (SV+AZ) มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าการให้วัคซีน ซิโนแวค 2 เข็ม (SV+SV) และเทียบเท่ากับการให้ แอสตร้าเซเนก้า 2 เข็ม (AZ+AZ)แต่ใช้เวลาสั้นลง