- 24 ส.ค. 2564
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความสถานการณ์โควิด-19 ...วิเคราะห์สถานการณ์ของไทย ว่า
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่า
...วิเคราะห์สถานการณ์ของไทย
จำนวนติดเชื้อใหม่ และเสียชีวิตของเมื่อวานนี้ สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก
การตั้งหน้าตั้งตามุ่งเป้าจะเปิดประเทศให้ได้ตามกำหนดดังที่เห็นนั้น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ระบบสนับสนุนด้านต่างๆ เป็นแบบในปัจจุบัน คาดว่าจะทำให้คนไทยตกอยู่ในภาวะที่อาจติดเชื้อราวหลักหมื่นต่อวัน และเสียชีวิตวันละ 50-100 คน
อาจมองดูน้อยในสายตากลุ่มคนตัดสินใจนโยบาย
แต่หากลองประมาณโดยคร่าว จากตุลาคมถึงสิ้นปี ถ้าเป็นไปตามที่กล่าวไว้ข้างต้น หักลบผลจากการป้องกันตัวของประชาชน ผลบางส่วนจากวัคซีน โอกาสแปรปรวนจากการจำกัดการตรวจคัดกรองและชนิดของวิธีตรวจ และการตกหล่นไม่ได้รายงานการติดเชื้อด้วยสาเหตุต่างๆ อาจมีติดเชื้อเพิ่มอีกอย่างน้อย 500,000 คน และโอกาสเสียชีวิตเพิ่มอีกอย่างน้อย 5,000-7,500 คน
ความสูญเสียจากสุขภาพ และความสูญเสียชีวิตไม่จบอยู่แค่ที่ประมาณไว้ แต่ยังส่งผลต่อครอบครัวของผู้สูญเสีย และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดรุนแรงต่อเนื่องยังส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน และระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมดในระยะยาว
...มองภาพอนาคต
1. ถัดจากนี้ไป ด้วยนโยบายและมาตรการดังที่ประกาศมา จะมีการติดเชื้อใหม่และการเสียชีวิตใหม่ในแต่ละวันอย่างต่อเนื่องแน่นอน
2. เดิมผลกระทบทางเศรษฐกิจจะหนักและเห็นชัดมากในกลุ่มประชาชนที่ยากจนแต่จะขยายไปถึงกลุ่มคนที่มีฐานะปานกลาง โดยจะเริ่มเห็นชัดขึ้นตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี และจะมีแนวโน้มหนักขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของ 2565 ถ้าไม่สามารถจัดการสถานการณ์ระบาดและระบบสนับสนุนต่างๆ ให้ดีกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
3. เป้าหมายหลักในการอยู่รอดของประชาชนแต่ละคนอาจจำเป็นต้องหาทางเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงด้วยตนเอง ผ่านช่องทางต่างๆ ที่ต่างจากระบบบริการภาครัฐ ด้วยข้อจำกัดของนโยบายวัคซีน กระบวนการจัดหา และข้อมูลเชิงวิชาการแพทย์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล ดังนั้นการเลือกรับวัคซีนของประชาชนจึงต้องยึดหลักเหตุและผล โดยใช้ความรู้ที่ถูกต้อง พิสูจน์ได้ จากแหล่งที่เชื่อถือได้มาประกอบการตัดสินใจปฏิบัติและดูแลตนเอง
4. โควิด-19 ที่ระบาดต่อเนื่องยาวนานและไม่ได้ตัดวงจรการระบาด จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยกระทบต่อสุขภาพกาย ใจ และสังคม ของบุคลาการที่ทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ
5. ที่น่ากังวลคือ ภาวะระบาดยาวนานต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพของผู้ป่วย และประชาชน โดยจะเห็นจากทั้งตัวผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะอาการคงค้าง หรือ Long COVID และกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โควิด-19
ทางออกเดียวที่จะป้องกันได้ คือการเลือกใช้แนวทางแบบนิวซีแลนด์ "Elimination and Vaccination strategies"
สำหรับประชาชนอย่างพวกเราทุกคน ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด ใช้ชีวิตอย่างมีสติ
ใส่หน้ากากนะครับ สองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า สำคัญมาก
ด้วยรักและห่วงใย
และยังระบุต่ออีกว่า
จำนวนตรวจ RT-PCR แต่ละวันแค่ระดับห้าหมื่นนิดๆ
ATK ระดับไม่กี่พันในกทม.
ไม่แปลกใจ หากรายงานจำนวนติดเชื้อจะลดลง