- 24 ส.ค. 2564
นายกฯเคาะแล้ว ให้สั่งซื้อชุดตรวจโควิด ATK โดยไม่ต้องให้ WHO รับรอง เหตุเพราะจะไว้ใช้กรณี home use
วันที่ 24 สิงหาคม 2564 มีรายงาน ว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ได้พิจารณาถึงการดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด แบบAntigent test kit ( ชุดตรวจโควิด ATK) จำนวน 8.5 ล้านชิ้น นั้น มีการแก้ไขข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ที่เคยระบุก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในประเด็นที่ต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) นั้น มีการแก้เป็นไม่ต้องใช้ยี่ห้อที่ WHO รับรอง เนื่องจากเป็นการนำมาใช้ในกรณี Home use ที่ปัจจุบันยังไม่มียี่ห้อใดได้รับการรับรอง พร้อมกับได้กำชับให้หน่วยงานที่กี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดซื้อ
สำหรับชุดตรวจโควิด ATK ที่องค์การอนามัยโลกรับรองนั้น ก่อนหน้านี้ทางชมรมแพทย์ชนบทได้โพสต์ถึงเรื่องของ Antigen Test Kit หรือชุดตรวจ ATK กับความเข้าใจพื้นฐานเรื่อง ATK ว่า ตอนที่ 1 ATK ที่องค์การอนามัยโลกรับรองมี 4 รายการ ภาษาสากลสำหรับ ATK ทั่วโลกใช้คำว่า RDT Rapid Diagnostic Test. ไม่ได้ใช้ ATK ซึ่งน่าจะสถาปนาศัพท์โดยประเทศไทยกระมัง หากไปค้นจะพบว่า WHO รับรองไว้ 4 รายการ
คำว่าองค์การอนามัยโลกรับรองนั้น ภาษาทางการใช้คำว่า Emergency Use Listing หรือ EUL ซึ่งหมายถึงรายการที่องค์การอนามัยโลกอนุญาตให้ใช้ กรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ซึ่งถือเป็นรายการที่องค์การอนามัยโลกรับรองมาตรฐานให้องค์การระหว่างประเทศซื้อจากหน่วยจากบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานจากห้องปฏิบัติการของ WHOและภาคสนามแล้ว
ดังนั้น ที่หลายคนบอกว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก หรือ WHO Standard ไม่มี หาไม่เจอ ก็ต้องไปหาจากคำว่า Emergency Use Listing ครับ จึงจะเจอ ซึ่งมี 4 รายการของ ATK ที่มาตรฐานระดับสากลและองค์การอนามัยโลกรับรอง
ความเข้าใจพื้นฐานเรื่อง ATK ตอนที่2
ATK Home use VS Professional use
ชุดตรวจหาเชื้อโควิดที่เรียกว่า ATK ในระดับการรับรองขององค์การอนามัยโลกที่เรียกว่า EUL (Emergency Use Listing) นั้น ไม่มีการแยกว่าเป็น home use (ใช้ตรวจเองที่บ้าน)หรือ professional use (ใช้ตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์) เขารับรองให้ใช้ได้ทั้ง 2 กรณี 2 in 1
คำถามสำคัญคือ Home use กับ Professional use มีความต่างอย่างไร คำตอบคือ โดยตัวแผ่นตรวจนั้นควรต้องมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน แต่ต่างกันข้อปลีกย่อยที่ 3 อย่างคือ 1. ขนาดความยาวของไม้ swab ที่ยาวไม่เท่ากัน (professional use จะยาวกว่า ไปถึง nasopharynge หรือช่องหลังโพรงจมูก ซึ่งจะเก็บเชื้อได้แม่นยำกว่า) 2. สารละลาย buffer ที่แยกใช้สำหรับชุดเดียว (professional use บางยี่ห้ออาจมีสารละลายขวดเดียวสำหรับ 25 test) และ 3. กล่องที่พิมพ์ว่า home use หรือ professional use
โดยสรุปคือ ATK ที่มีมาตรฐานนั้น สิ่งเดียวที่แตกต่างกันคือ ความยาวของไม้ swab เท่านั้น นอกจากนั้นคุณภาพอื่นต้องเหมือนกันทั้งหมด ในมาตรฐานองค์การอนามัยโลกจึงไม่ได้แยกว่าเป็น home use หรือ professional use นั้นคือไม่ว่าใช้โดยใคร ที่บ้านหรือสถานพยาบาลก็ต้องมีมาตรฐานในระดับสูงสุดเหมือนกัน
จะแหย่จมูกตื้นหรือลึกก็แล้วแต่กรณี ความจริง อย.ไทยก็เข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV-2 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง ซึ่งลงนามโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ในข้อ 10 สามารถสรุปความได้ว่า สามารถนำชุดตรวจ professional use มาใช้กับ home use ได้
รวมทั้งองค์การเภสัชกรรมก็เข้าใจเรื่องนี้ดีเช่นกัน เพราะในประกาศ TOR ที่ AJ23-845/2564 ขององค์การเภสัชกรรมนั้น ชัดเจนในข้อ 3.3 ว่า สามารถใช้ตรวจเป็น nasal swab หรือตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องชุดตรวจ ATK (คือ nasopharyngeal swab ก็ได้)