- 27 ส.ค. 2564
เปิดตัว "ทนายโชคชัย อ่างแก้ว" ทนายประจำตัว "ผู้กำกับโจ้" รับสู้คดีสะเทือนวงการตำรวจ เคยว่าความให้คดีสำคัญมากมาย
จากเหตุการณ์ที่คนทั้งประเทศให้การติดตาม สำหรับกรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ "ผู้กำกับโจ้" อดีตผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ ผู้ต้องหาในคดีร่วมกันกับพวกรวม 7 คน ถูกออกหมายจับคดีใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหายาเสพติดจนเสียชีวิต ก่อนที่ตำรวจ 5 นายจะเข้ามอบตัว และถูกฝากขังไปแล้ว ก่อนที่ต่อมาช่วงค่ำวันที่ 26 ส.ค. ผู้กำกับโจ้ ได้ติดต่อขอเข้ามอบตัวที่ จ.ชลบุรี ส่วน ร.ต.ท.ธรณินทร์ มาศวรรณา อดีตรองสว.(ป.)สภ.เมืองนครสวรรค์ ถูกจับกุมได้ที่ จ.เพชรบุรี
ทั้งนี้ ผู้กำกับโจ้ ถูกนำตัวมาที่กองบังคับการตำรวจกองปราบปราม พร้อมกับ นายโชคชัย อ่างแก้ว เป็นทนายความประจำตัว โดยจากการสอบปากคำ ผู้กำกับโจ้ ยืนยันว่า ไม่ได้มีใครเรียกเงิน 20 ล้าน จากเรื่องแบล็กเมล์คลิปวงจรปิด และไม่มีการเรียกค่าไถ่ผู้ต้องหา รวมถึงเงิน 2 ล้านบาทด้วย แต่สิ่งที่ตนทำไปเพราะต้องการจะถามหายาเสพติดซึ่งเป็นของกลางในคดีเท่านั้น แต่พลั้งมือทำผู้ต้องหาเสียชีวิต และที่หลบหนีไปนั้น ไม่มีใครพาหลบหนี เป็นเพียงตกใจจะไปตั้งหลัก ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะมอบตัว และขอยอมรับผิดแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจาก ขณะเกิดเหตุลูกน้องพยายามห้ามปรามแล้ว ส่วนที่ใช้ถุงดำคลุมหน้าผู้ต้องหา เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้ต้องหาเห็นใบหน้าของตัวเองขณะลงมือ ขอโทษที่ทำให้ภาพลักษณ์ตำรวจเสียหาย
สำหรับ ทนายโชคชัย อ่างแก้ว ซึ่งเป็นทนายความประจำตัว ผู้กำกับโจ้ ได้เปิดเผยสั้นๆว่า "ได้รับการติดต่อให้มาว่าความในคดีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ ซึ่งยังไม่ทราบรายละเอียดของคดี แต่จะขอประกันตัวลูกความมาสู้คดี ตามกระบวนการยุติธรรม" ซึ่งทนายโชคชัย เคยทำคดีสำคัญๆ มาหลายคดี ดังนี้
- ปี 2553 เป็นทนายความผู้รับผิดชอบคดีสลายการชุมนุมปี 2553
- ปี 2560 ทนายความรับมอบอำนาจจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีอัยการสูงสุด มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ
- ข้อหาหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ จากการให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเมื่อเดือพฤษภาคม 2558 ที่ประเทศเกาหลี
- ปี 2562 เคยเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อเลขาธิการ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ และลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับอนุญาตให้ดำเนินโครงการการก่อสร้างศูนย์การค้า เซ็นทรัลวิลเลจ ลักชูรี่ เอาท์เล็ต ที่มีการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียว ที่ดินประเภทชนบท และเกษตรกรรม (ก.1-10) ซึ่งห้ามก่อสร้างอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ การบุกรุกลำรางสาธารณะ มากไปกว่านั้น คือการใช้พื้นที่ราชพัสดุ โดยที่หน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ไมยินยอม หรือรับอนุญาตในการวางท่อประปา