- 13 ก.ย. 2564
ประเมินหนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะเปราะบาง ด้วยสัดส่วนหนี้เพื่อการบริโภคที่สูงขึ้น จึงเป็นปัญหากระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบีธนชาต ประเมินหนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะเปราะบาง ด้วยสัดส่วนหนี้เพื่อการบริโภคที่สูงขึ้น จึงเป็นปัญหากระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของไทยมีการปรับตัวสูงมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 เป็น 90.5% ของจีดีพี ณ ไตรมาส 1/2564 และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศระลอกสามที่ลุกลามยืดเยื้อมาจนถึงครึ่งหลังของปี 2564 โดยคาดการณ์ว่า อาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93.0% ณ สิ้นปี 2564
ปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทยต่อจีดีพี ที่เร่งขึ้นเร็วในช่วงวิกฤตนี้เกิดจาก หลังจากที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ การถูกปรับลดเงินเดือนบางส่วนลง รวมถึงการถูกเลิกจ้าง / รายได้ที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็ว สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนไทย ณ ต้นปี 2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันกับปี 2563 ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา
พบว่าในหลายประเทศ ก็ประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งในลักษณะเดียวกัน อาทิ เกาหลีใต้มีหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 93.9% ของจีดีพี เป็น 103.8% ณ ต้นปี 2564 และมาเลเซียที่เพิ่มจาก 82.7% เป็น 93.2% ในปัจจุบัน โดยไทยมีปริมาณหนี้ครัวเรือนอยู่อันดับที่ 17 ของโลก ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน คือ เกาหลีใต้และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 9 และ 14 ตามลำดับ แต่สูงกว่าหนี้ครัวเรือนของสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับที่ 26 ของโลก