- 24 ก.ย. 2564
เฝ้าระวัง 7 เขื่อนหลัก รับอิทธิพล พายุดีเปรสชัน บุกถล่มไม่หยุด
วันที่ 23 ก.ย. 64 พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางที่ทวีกำลังแรงจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงเมื่อเวลา 07.00น. โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 14.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 111.0 องศาตะวันออก กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 24 ก.ย. 64 และจะอ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง เคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางในช่วงวันที่ 24-25 กันยายน 2564 ตามลำดับ ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย
ด้าน กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ ว่า ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.แพร่ 128 มิลลิเมตร ขอนแก่น 78 มิลลิเมตร กาญจนบุรี 99 มิลลิเมตร สุพรรณ 113 มิลลิเมตร ระยอง 54 มิลลิเมตร และระนอง 76 มิลลิเมตร โดยแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศน้ำน้อยถึงมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาพรวมปริมาณน้ำทั้งประเทศ 48,569 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 59 และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 42,800 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 60
ส่วนจุดเฝ้าระวังน้ำน้อยยังคงอยู่ในพื้นที่ 4 แห่ง เฝ้าระวังน้ำมาก 7 แห่ง บริเวณเขื่อนนฤบดินทรจินดา เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนแม่มอก เขื่อนลำตะคอง เขื่อนขุนด่านปราการชล เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนมูลบน พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ระดับน้ำล้นตลิ่ง เนื่องจากมีน้ำล้นอาคารระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ คือ เขื่อนลำปะทาว มีปริมาณน้ำล้นอาคารระบายน้ำ ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำสองฝั่ง ลำน้ำลำปะทาวและลำน้ำชีตอนบนในพื้นที่ อ.เนินสง่า อ.คอนสวรรค์ และ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ เขื่อนห้วยกุ่ม พร่องน้ำเตรียมรองรับฝนตกช่วงนี้ อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้านท้ายน้ำริมลำน้ำพรม ต.กุดเลาะ ต.บ้านยาง ต.บ้านเป้า และ ต.บ้านหัน อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ จึงขอให้หน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำ ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ เตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ และพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่
สำหรับสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำมีแนวโน้มสูงขึ้น และเสี่ยงน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำน่าน อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร แม่น้ำยม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก แม่น้ำเจ้าพระยา อ.บางบาล อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ลำน้ำพอง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น แม่น้ำปราจีนบุรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และแม่น้ำพระปรง อ.เมือง จ.สระแก้ว นอกจากนี้ กอนช. ยังได้ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาช่วงวันที่ 22–26 กันยายน พบมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีฝนตกหนักในพื้นที่ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาสูงสุดบริเวณสถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 28 กันยายน และปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในวันที่ 29 กันยายน
ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำด้านท้ายเขื่อนบริเวณ ต.บ้านกระทุ่ม ต.หัวเวียง อ.เสนา และ ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 1 เมตร ช่วงวันที่ 29 กันยายน - 2 ตุลาคม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและขอให้หน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำต่อเนื่องโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงและพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และผู้ประกอบกิจการบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย คลองโผงเผง และคลองบางบาล พร้อมปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำเพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ แล้วเร่งระบายน้ำในลำน้ำและแม่น้ำรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน