- 01 ต.ค. 2564
กทม.เตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ โดยมีแผนรับมือฯ 9 ข้อ
พื้นที่ กรุงเทพ มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านกลางเมืองที่มาจากตอนบนประเทศ ถ้ามีฝกตกหนักบริเวณจังหวัดที่อยู่ตอนบนของ กทม. จะทำให้มีน้ำเหนือปริมาณมากไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา
ทุก ๆ ปี กทม.จะมีปัจจัยจากน้ำฝนที่ตกหนัก ปริมาณมากที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมขังได้ กทม.ได้เตรียมรับมือป้องกันน้ำท่วมขังอย่างต่อเนื่อง แก้ไขจุดเสี่ยงให้มีน้อยที่สุด และเตรียมเจ้าหน้าที่ เครื่องสูบน้ำในจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง โดยใช้หลักวิศวกรรมมาแก้ไข มีการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ท่อเร่งระบายน้ำ และพื้นที่กักเก็บน้ำ ทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังใน กทม. อย่างต่อเนื่อง
นอกจาก กทม. จะมีการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ที่มีปัจจัยจากน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน โดยใช้หลักวิศวกรรมเร่งการระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด โดยสร้างท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe Jacking) เร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่จุดเสี่ยงและเฝ้าระวังน้ำท่วม ให้ไหลลงสู่พื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดินหรือธนาคารน้ำใต้ดิน (Water Bank) ได้เร็วขึ้น ก่อนที่จะไหลลงอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพื่อระบายน้ำออกสู่คลองและแม่น้ำเจ้าพระยา และยังมีพื้นที่กักเก็บน้ำบนดิน (แก้มลิง) รองรับน้ำไม่ให้ท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออก ก่อนสูบน้ำ ระบายออกสู่แม่น้ำให้เร็วที่สุดอีกทางหนึ่ง
กทม.เตรียมความพร้อมและรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ โดยมีแผนรับมือฯ 9 ข้อ ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและจากเรดาร์ตรวจฝนของกรุงเทพมหานคร ตลอด 24 ชั่วโมง
2. เตรียมเครื่องสูบน้ำให้พร้อมใช้งาน และจัดเจ้าหน้าที่ พร้อมแก้ไขน้ำท่วมขังทันที ตามจุดที่เสี่ยงน้ำท่วม
3. พร่องน้ำในคลอง ควบคุมระดับน้ำในบ่อสูบน้ำและแก้มลิงให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนฯ
4. เมื่อมีฝนตก ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม แจ้งเตือนสถานการณ์ฝนตกให้ผู้ปฏิบัติงานภาคสนาม และแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลุ่ม Line “เตือนภัยน้ำท่วม กทม.” (ปภ. ทหาร ตำรวจ สื่อมวลชน) ทันที
5. หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วน (BEST) ประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมและจุดสำคัญเมื่อคาดว่าจะมีฝนตกหนัก เพื่อเร่งระบายน้ำ และแก้ไขปัญหาเรื่องขยะอุดตันตะแกรงช่องรับน้ำพร้อมการช่วยเหลือแก้ปัญหาด้านการการจราจร
6. หน่วยงานภาคสนามลงพื้นที่ตามจุดต่างๆ และรายงานจุดที่มีน้ำท่วมให้ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมรับทราบสถานการณ์จนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ
7. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ช่วยอำนวยความสะดวกการจราจร การปิดเส้นทางน้ำท่วม และทหาร ช่วยเหลือลำเลียงประชาชนออกจากพื้นที่ หากมีระดับน้ำท่วมสูงรถเล็กไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านได้
8. เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในจุดที่วิกฤติ ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเคลื่อนที่เพิ่มเติมจากเดิม
9. ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม รายงานสภาพฝน ปริมาณฝน พื้นที่น้ำท่วมขังเป็นระยะๆ และสรุปสถานการณ์เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ผ่านหน่วยงานต่างๆ รวมถึงช่องทางโซเชียลมีเดีย
เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน กรุงเทพมหานครจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมโดยมีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้บัญชาเหตุการณ์ พร้อมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานและจังหวัดใกล้เคียง ทั้งจังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดนครปฐม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน และกองทัพภาคที่ 1 และเตรียมการแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบตามเส้นทางที่มีแนวก่อสร้าง เช่น โครงการระบบระบายน้ำแนวถนนวิภาวดี และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ
ก่อนหน้าฝน ก็ได้มีการเตรียมพร้อมหากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยได้ลอกท่อระบายน้ำ เก็บขยะ ผักตบชวา และเตรียมเครื่องสูบน้ำให้พร้อมใช้งาน
ประชาชนสามารถติดตามการแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนและรับแจ้งเหตุน้ำท่วมขังในพื้นที่ กทม. จะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เข้าช่วยเหลือประชาชนและเร่งระบายน้ำในจุดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง
โทร. 1555 และศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม โทร. 0-2248-5115 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง