- 04 ต.ค. 2564
ชี้แจงดราม่า เขียงหมูต้องขายหมูซีพี ไม่เช่นนั้นจะผิดกฎหมาย ตรวจสอบพร้อมยืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง
วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ออกมาชี้แจงดราม่าที่โซเชียลแชร์ส่งต่อกันว่ามีการบังคับเขียงหมูต้องขายหมูซีพี ไม่อย่างนั้นจะเป็นการทำผิดกฎหมาย ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนและเจ้าของกิจการเขียงหมู โรงเชือดหมู เป็นอย่างมาก ซึ่งตรวจสอบพร้อมยืนยันแล้วว่าไม่เป็นความจริง ระบุ
ตามที่มีการแชร์ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เรื่อง ขายหมูที่แผงตนเอง ต้องนำหมูของซีพีมาขาย 50% ไม่อย่างนั้นจะผิดกฎหมายทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีการโพสต์ข้อความที่ระบุว่า ขายหมูของตัวเอง 100% ถือว่าผิดกฎหมาย ต้องนำหมูของ CP มาร่วมขายด้วย 50% ถึงจะขายได้แบบไม่ผิดกฎหมายนั้น ทางกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตามกฎหมายแล้วประชาชนสามารถเชือดหมูของตนเองเพื่อจำหน่ายได้ 100 % แต่ต้องทำที่โรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โดยปัจจุบันกฎหมายที่กำกับดูแลการเชือดสัตว์เพื่อการจำหน่ายของประเทศไทย คือ พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 ซึ่งกำหนดให้การฆ่าสัตว์ต้องกระทำในโรงฆ่าสัตว์เท่านั้น ดังนั้น การเชือดสุกรเพื่อจำหน่ายที่บ้านตนเอง หรือสถานที่ไม่ใช่โรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตไม่ว่าสุกรนั้นจะเป็นสุกรที่เลี้ยงเองหรือว่าสุกรที่มาจากบริษัทจึงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อกำกับดูแลเรื่องโรงฆ่าสัตว์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เนื่องจากโรงฆ่าสัตว์เป็นสถานที่ผลิตเนื้อสัตว์ก่อนจำหน่ายถึงผู้บริโภค จึงมีความจำเป็นที่ต้องกำกับดูแลให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสัตว์มีชีวิต มีความสะอาดในกระบวนการผลิตและมีสวัสดิภาพสัตว์ และที่สำคัญต้องมีการตรวจสุขภาพสัตว์ก่อนฆ่าและเนื้อสัตว์หลังฆ่า โดยพนักงานตรวจโรคสัตว์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือผู้ที่ได้รับการอบรมจากสัตวแพทยสภาหรือกรมปศุสัตว์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดจากสัตว์สู่คน (Zoonosis)
นอกจากนี้โรงฆ่าสัตว์ยังมีกฎหมายกำกับดูแลเพื่อป้องกันไม่ให้สร้างเหตุเดือดร้อนรำคาญให้แก่ประชาชนข้างเคียง เช่น พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พระราชบัญญัติผังเมือง เป็นต้น ทั้งนี้ เนื้อสัตว์ที่มาจากโรงฆ่าที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้น จะไม่ทราบแหล่งที่มาของสัตว์ ไม่มีการตรวจสอบใดๆ ไม่ได้ผ่านการตรวจโรคมาก่อน และผ่านกระบวนการฆ่าสัตว์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้มีความเสี่ยงที่เนื้อสัตว์ถูกชำแหละแล้วไปวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภคปนเปื้อนเชื้อโรคสูง อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคระบาดที่สำคัญ หรืออันตรายจากสารตกค้าง เช่น สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมน และยาปฏิชีวนะ เป็นต้น
โดยการฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์มีความผิดตามมาตรา 15 แห่ง พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 คือประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษตามมาตรา 31 แห่ง พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 คือฆ่าสัตว์โดยไม่แจ้งการฆ่าต่อพนักงานท้องถิ่น ซึ่งมีโทษปรับตามรายตัวสุกร ตัวละไม่เกิน 2 หมื่นบาท
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตเพื่อเป็นการส่งเสริมโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย โดยสามารถสังเกตตราสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ซึ่งเป็นตราสัญลักณ์ที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรองร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ว่านำเนื้อสัตว์มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้อนุญาตตามกฎหมาย
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมปศุสัตว์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.dld.go.th หรือโทร. 02 6534444
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ตามกฎหมายแล้วประชาชนสามารถเชือดหมูของตนเองเพื่อจำหน่ายได้ 100 % แต่ต้องทำที่โรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเท่านั้น
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์