- 14 ต.ค. 2564
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เร่งถกเยียวยา นักศึกษาสาว 20 ปี ต้องสูญเสียขา หลังฉีดวัคซีนสูตรไขว้
วันที่ 13 ต.ค.64 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณี น.ส.เกตน์สิรี (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี นักศึกษาสาขาวิชาการปกครองท้องถิ่นของวิทยาลัยชุมชนพังงา เกิดภาวะโรคหลอดเลือดแดงอุดตันฉับพลันที่ขาทั้ง 2 ข้าง ภายหลังฉีดวัคซีนเข็ม 2 แอสตร้าเซนเนก้าแบบไขว้
ต่อมาแพทย์ต้องตัดขาซ้ายเหนือเข่า ขณะนี้ยังรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศรีนครินทร์สงขลา ว่า สปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานี ได้ประสานข้อมูลไปยังวิทยาลัยชุมชนพังงา ซึ่งอาจารย์ของ น.ส.เกตน์สิรี ให้ข้อมูลมาว่า ก่อนหน้านี้ผู้ป่วยไม่มีโรคประจำตัวใดๆ แต่หลังจากฉีดวัคซีนโควิด 19 เพียง 5 วัน ได้เกิดอาการภาวะหลอดเลือดแดงอุดตันเฉียบพลันขึ้น จนเข้าเข้ารักษาตัวที่ รพ.พังงา เพื่อผ่าตัดเส้นเลือดที่อุดตัน
แต่ปรากฏว่าอาการไม่ดีขึ้น จึงส่งต่อไปรักษาที่ รพ.กระบี่ และได้รับการดูแลต่อโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือด ซึ่งได้มีการผ่าตัดซ้ำ 2 ครั้ง และส่งกลับมาดูแลที่ รพ.พังงา แต่ด้วยอาการที่แย่ลง เมื่อวันที่ 5 ก.ย. จึงส่งต่อไปรักษาที่ รพ.สงขลานครินทร์ และรักษาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
“จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับ กรณีนี้เข้าข่ายกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 สามารถรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากความเสียหายภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด เบื้องต้นได้ประสานให้ทางญาติยื่นคำร้องและเอกสาร โดยจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น
กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระดับเขตพื้นที่ สปสช. เขต 11 สุราษฎร์ธานี ในวันที่ 14 ต.ต.นี้ เพื่อให้ครอบครัวผู้ป่วยได้รับการเยียวยาและช่วยเหลือดูแลโดยเร็วที่สุด” โฆษก สปสช. กล่าว
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่ผ่านมา ภาวะไม่พึงประสงค์เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ แต่จากรายงานเป็นส่วนที่น้อยมาก อาจเป็นกรณีเฉพาะรายบุคคลและมีหลายปัจจัยประกอบ แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนจำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยเร็ว ไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งเป็นกลไกภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล