- 15 ต.ค. 2564
กรมอนามัย แนะนำประชาชนปรับสภาพร่างกาย "หลังออกเจ" โดยให้เน้นกิน ‘ปลา ไข่ ดื่มนมทีละน้อย’ เพื่้อป้องกันอาการท้องอืด แน่นท้อง หลีกเลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์สีแดง เพื่อป้องกันอาการท้องอืดและแน่นท้อง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงกินเจติดต่อกันเป็นเวลา 9 วัน ส่งผลให้ร่างกายมีการปรับระบบการย่อยอาหารจากที่ย่อยเนื้อสัตว์มาเป็นพืชผักแทนดังนั้น เมื่อร่างกายต้องกลับมากินอาหารตามปกติ ผู้บริโภคจึงปรับสภาพร่างกายด้วยการกินอาหารที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา ไข่ นม ผักและผลไม้ กินให้หลากหลายครบ 5 หมู่ เลือกอาหารรสไม่จัดไม่หวาน มัน เค็ม เผ็ด เปรี้ยวมากจนเกินไป
หลีกเลี่ยงอาหารประเภทเนื้อสัตว์สีแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เพราะทำให้ย่อยยากในช่วงแรก จึงทำให้เกิดอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อยได้สำหรับการดื่มนม แนะนำให้เริ่มดื่มนมวัวครั้งละน้อยๆ ประมาณครึ่งแก้ว และค่อยเพิ่มเป็น ครั้งละ 1 แก้วได้ ในเวลาประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ หรือดื่มนมในช่วงสายหรือช่วงบ่าย ในมื้ออาหารว่างหรือเลือกผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการย่อยน้ำตาลแลกโตสบางส่วนโดยจุลินทรีย์ เช่น โยเกิร์ตหรืออาจดื่มนมถั่วเหลืองทดแทนไปก่อน แต่หลังจากที่ร่างกายสามารถปรับสภาพการย่อยอาหาร กลับสู่ภาวะเดิม ก็สามารถกินอาหารและดื่มนมได้ตามปกติ
“ทั้งนี้ หลังจากออกเจ ร่างกายสามารถปรับสภาพการย่อยอาหารได้ จึงถือเป็นโอกาสที่ดี ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินที่เหมาะสม โดยกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลายในปริมาณที่เหมาะสม ให้ครบ 3 มื้อ กินอาหารกลุ่มข้าวและแป้งแต่พอดี เลือกกินข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือหรือธัญพืชไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา กินไข่ ถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ เพิ่มการกินผักให้มากและกินผลไม้รสไม่หวานจัดควบคู่กับอาหารหลักทุกมื้อ เพื่อเป็นการควบคุมไม่ให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินความจำเป็น เช่น เมนูไข่ยัดไส้ ปลานึ่งขิง แกงจืดเต้าหู้ไข่ใบตำลึง รวมทั้ง ควรดื่ม นมรสจืดเป็นประจำ และดื่มน้ำสะอาดวันละ 8 -10 แก้ว เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลมากเกินไป และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ ควรออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว”