- 25 ต.ค. 2564
ราชกิจจาฯประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 7 ข้อห้ามตั้งชื่อโรงเรียนเอกชน
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. เกี่ยวกับการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการขออนุญาตใช้ชื่อโรงเรียนเอกชน โดยได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และข้อห้ามตั้งชื่อโรงเรียนเอกชน ไว้อย่างน่าสนใจหลายประการ
ซึ่งประกาศนี้ได้มีการเผยแพร่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการขออนุญาตให้ใช้ชื่อโรงเรียนเอกชน
โดยที่กฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เป็นศูนย์ส่งเสริมข้อมูล และทะเบียนกลางทางการศึกษาเอกชน ดังนั้น เพื่อให้จัดเก็บข้อมูลเป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพ ในการใช้ชื่อโรงเรียนเอกชนเป็นไปในแนวทางเดียวกัน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๔ (๖) แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. ๒๕๕๐ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จึงออกประกาศหลักเกณฑ์ และวิธีการไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า "ประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการขออนุญาตให้ใช้ชื่อโรงเรียนเอกชน"
ข้อ ๒ ในประกาศนี้ "โรงเรียน" หมายความว่า โรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษา และประเภทนานาชาติ และให้หมายรวมถึงโรงเรียนนอกระบบด้วย
ข้อ ๓ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๔ ผู้มีความประสงค์ขอใช้ชื่อโรงเรียนเอกชน ให้ยื่นหนังสือเพื่อขอตรวจสอบชื่อโรงเรียน โดยเรียงลำดับชื่อที่ต้องการ จำนวน ๓ ชื่อ โดยระบุชื่อภาษาไทย และชื่อภาษาต่างประเทศ (ถ้ามี) ต่อสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานการศึกษา เอกชนจังหวัดแล้วแต่กรณี
ข้อ ๕ กรณีการขอใช้ชื่อโรงเรียนเดียวกัน ผู้ประสงค์ขอใช้ชื่อเพื่อจัดตั้งโรงเรียน หรือ เปลี่ยนแปลงชื่อโรงเรียนที่มิใช่เป็นผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเดียวกัน ต้องมีหนังสือยินยอม หรือ หนังสืออนุญาตให้ใช้ชื่อโรงเรียนจากผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนนั้น หากผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเป็นนิติบุคคลจะต้องมีมติของที่ประชุมนิติบุคคล ให้ความยินยอม หรืออนุญาตให้ใช้ชื่อโรงเรียนนั้นมาประกอบการพิจารณาด้วย
ทั้งนี้ การขอใช้ชื่อโรงเรียนเดียวกัน ชื่อโรงเรียนที่ได้ยื่นขออนุญาตให้ใช้นั้น ต้องมีคำต่อท้าย ด้วยชื่ออาคาร สถานที่ หรือชื่อจังหวัด เป็นต้น
ข้อ ๖ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนดำเนินการตรวจสอบชื่อของ โรงเรียนตามที่สำนักงานศึกษาธิการ หรือสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดขอให้ตรวจสอบจากระบบบริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (EDMS) และจากแหล่งข้อมูลอื่นที่สามารถรับรองและยืนยันได้
โดยชื่อโรงเรียนต้องไม่มีการพ้องเสียงเรียกชื่อจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นโรงเรียนเดียวกัน
การพิจารณาการใช้ชื่อโรงเรียนต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงการขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้ง โรงเรียนในระบบ การกำหนดรายการ และการขอเปลี่ยนแปลงรายการในตราสารจัดตั้ง และ การกำหนดขนาดที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนในระบบ พ.ศ. ๒๕๕๕ และกฎกระทรวงการขอรับ ใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ พ.ศ. ๒๕๕๕
โดยชื่อของโรงเรียนต้องใช้ อักษรไทย และต้องมี คำว่า"โรงเรียน" ประกอบชื่อด้วย หรืออาจมีอักษรต่างประเทศกำกับด้วยก็ได้
กรณีที่โรงเรียนมีชื่อเป็นอักษรต่างประเทศด้วย ต้องอ่านแล้วได้สำเนียงสอดคล้องกับภาษาไทย หรือแปลแล้วได้ความหมายเช่นเดียวกับชื่อภาษาไทย และมีคำที่แปลแล้วมีความหมายว่าโรงเรียน นำหน้าหรือตามหลังชื่อของโรงเรียน
ทั้งนี้ ชื่อโรงเรียนต้อง มีลักษณะ ดังนี้
(๑) เป็นชื่อที่สอดคล้องกับหลักสูตรหรือประเภทของโรงเรียน
(๒) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย หรือพระนาม ของพระบรมวงศานุวงศ์ เว้นแต่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นชื่อของโรงเรียน
(๓) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับราชทินนาม เว้นแต่เป็นราชทินนามของตน ของผู้บุพการี หรือของผู้สืบสันดาน และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นชื่อของโรงเรียน
(๔) ไม่พ้องหรือมุ่งหมายให้คล้ายกับชื่อสกุลหรือชื่ออื่นใดที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์ เว้นแต่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นชื่อของโรงเรียน
(๕) ไม่ซ้ำกับชื่อโรงเรียนประเภทเดียวกันหรือโรงเรียนที่เลิกดำเนินกิจการไปแล้ว ซึ่งได้รับ ใบอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
(๖) ไม่เป็นชื่อที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นตัวแทน เครือข่าย หรือสาขาของโรงเรียน หรือสถาบันหรือสถานศึกษาอื่นในต่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตให้เป็นตัวแทน เครือข่าย หรือสาขาของโรงเรียน
(๗) ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ข้อ ๗ ข้อห้ามในการใช้ชื่อโรงเรียน มีดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อโรงเรียนต้องไม่มีการพ้องเสียงเรียกชื่อจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นโรงเรียนเดียวกัน
(๒) ไม่ควรตั้งชื่อที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับชื่อโรงเรียนของรัฐ
(๓) ชื่อโรงเรียนที่เกี่ยวกับศาสนาต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางศาสนา
(๔) ชื่อโรงเรียนต้องเขียนหรือสะกดคำให้ถูกต้องตามหลักภาษาไทย
(๕) ชื่อโรงเรียนภาษาต่างประเทศต้องแปลแล้วมีความหมาย กรณีใช้ภาษาอังกฤษ เมื่อเขียนทับศัพท์เป็นภาษาไทยต้องเป็นไปตามหลักของราชบัณฑิตยสภา
(๖) ชื่อโรงเรียนต้องไม่เป็นอักษรย่ออย่างเดียว
(๗) ชื่อโรงเรียนจะต้องไม่มีคำว่า สถาบัน
(๘) ชื่อโรงเรียนไม่ควรเกิน ๑๕ พยางค์
ประกาศ ณ วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน