- 27 ต.ค. 2564
ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลภัยพิบัติในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เรื่อง พายุใต้ฝุ่นโมลาเบ เตรียมเข้าไทย 28-30 ต.ค. นี้ พื้นที่ภาคอีสานได้รับผลกระทบทั้งหมด ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการโพสต์ข้อความโดยระบุว่า แรงสุดในรอบปี! พายุใต้ฝุ่นโมลาเบ จ่อเข้าไทย 28-30 ต.ค. นี้ อีสานโดนทั้งภาคนั้น ล่าสุดทางกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ตรวจสอบโพสต์ดังกล่าว และชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด "พายุโมลาเบ" เป็นพายุที่เกิดขึ้น เมื่อปี 2563 ซึ่งพยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 24-27 ต.ค. 64 บริเวณ ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและ ทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อย
ในช่วงวันที่ 28-30 ต.ค. 64 บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนระลอกใหม่จะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและ ทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะแรก สำหรับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือ ยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่างในช่วงวันที่ 27-28 ต.ค. 64
ในช่วงวันที่ 23 และ 28 ต.ค. 64 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ส่วนประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคใต้ควรระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ http://www.tmd.go.th Facebook: กรมอุตุนิยมวิทยา, Application: Thai weather หรือติดต่อสายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด "พายุโมลาเบ" เป็นพายุที่เกิดขึ้น เมื่อปี 2563 ทั้งนี้ พยากรณ์อากาศ 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 24-27 ต.ค. 64 ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อย ในช่วงวันที่ 28-30 ต.ค. 64 ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม